พูดได้ว่าบนเส้นทางของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา แม้จะช่วยให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ดีนั้น ในทำนองเดียวกันได้ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องแนวโน้มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทั้งระหว่างคนรวยกับคนจน และความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบทให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
งานวิจัยเรื่อง “พลวัตการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยในเชิงพื้นที่กับปัญหาความเหลื่อมลํ้า” ได้หาสาเหตุที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันระหว่างเศรษฐกิจแบบยังชีพ และเศรษฐกิจแบบตลาด
เมื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ช่วงก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ซึ่งในการพิจารณาจะครอบคลุมอิทธิพลของปัจจัยเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ผ่านการวิจัยวิธีวิทยาเชิงเศรษฐศาสตร์ ในการอธิบายกลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีระเบียบกติกาข้อบังคับ วัฒนธรรมประเพณี และระบบคุณค่าทางสังคมในขณะนั้นที่แตกต่างจากปัจจุบัน
ในอดีตความจำเป็นที่เจ้าที่ดินผู้ปกครองรัฐต้องบริหารจัดการปัญหาเรื่องจริยธรรมวิบัติ (Moral Hazard) และป้องกันการหลบหนีของแรงงานไพร่ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตโดยรวมของราชอาณาจักร คณะผู้ปกครองรัฐในอดีตจึงจำเป็นต้องหันไปใช้นโยบายแบบยืดหยุ่น ซึ่งเป็นจุดที่นำไปสู่การเกิดปัญหาความเหลื่มล้ำทางรายได้ของชาวนาในเชิงพื้นที่
เนื่องจากข้อกำหนดของระบบแรงงานไพร่ในสมัยนั้น ห้ามแรงงานไพร่ไม่ให้เดินทางเคลื่อนย้ายถิ่นฐานได้โดยเสรี หากไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นนายของตน นอกจากนี้ทางผู้ปกครองรัฐก็ยังได้มีการนำระบบสักเลกมาใช้กับไพร่หลวงทุกคน เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือการแอบลักลอบย้ายถิ่นฐานของไพร่หลวงด้วย
จากการวิเคราะห์ทำให้สามารถตอบคำถามว่า “ทำไมคณะผู้ปกครองรัฐในอดีตจึงเลือกใช้นโยบายแบบยืดหยุ่น” กล่าวคือ การให้ชาวนาเป็นผู้ตัดสินใจเช่าที่นาโดยจ่ายค่าเช่านาเป็นข้าวสองถังต่อไร่ ขณะเดียวกันก็มีการบังคับเกณฑ์แรงงานไพร่ 3 - 6 เดือนต่อปี แทนการใช้นโยบายแบบเข้มงวด นั่นคือ การบังคับเกณฑ์แรงงานไพร่แบบเต็มเวลา 12 เดือนต่อปี
ทั้งนี้เพราะคณะผู้ปกครองรัฐในอดีตตระหนักดีว่า นโยบายแบบเข้มงวดนั้นจะไม่ช่วยให้ชาวนาทั้งหลายสมัครใจที่จะทำงานอย่างเต็มที่ จึงทำให้ได้ผลผลิตข้าวที่ต่ำกว่าในกรณีที่ใช้นโยบายแบบยืดหยุ่นนั่นเอง
นอกจากนี้ชาวนาที่อยู่นอกเขตพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนบน มีระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพที่มีรายได้ต่ำ ไม่สามารถที่จะย้ายถิ่นฐานของตน เพื่อเข้ามาเช่าที่นาทำกินในพื้นที่เขตที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนบนได้ จึงเปลี่ยนตัวเองไปเป็นชาวนาในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด เพื่อที่จะมีรายได้ที่สูงขึ้นกว่าเดิมได้ ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของชาวนาในทั้งสองพื้นที่ดังกล่าว จนกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างสองพื้นที่นี้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจเมืองในขณะนั้น
ดังนั้นความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น จึงมีสาเหตุมาจากสภาพของระบบสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครอง ของสยามในเวลานั้นนั่นเอง
จากการศึกษาพบว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่เมื่อต้นรัตนโกสินทร์นั้น เป็นผลมาจากความสัมพันธ์เชิงดุลยภาพระหว่าง เป้าหมายของชนชั้นผู้ปกครอง ที่มีอำนาจกำหนดอัตราภาษีค่าเช่านา และ อำนาจการบังคับเกณฑ์แรงงาน เพื่อประโยชน์ในการบริหารปกครองบ้านเมือง
นอกจากนี้การทำงานของชนชั้นชาวนาและแรงงานไพร่ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพและเศรษฐกิจแบบตลาดนั้น เพื่อให้ตนเองและครอบครัวสามารถมีวิถีชีวิตที่ดีและพ้นจากการเป็นหนี้สิน โดยมีทางเลือกและอำนาจต่อรองกับเจ้าที่ดินที่แตกต่างกันไป
ยิ่งไปกว่านั้นแล้วการแสวงหากำไรของพ่อค้าคนกลาง และพ่อค้าเร่รายย่อยชาวจีนที่ประสานผลประโยชน์กับระบบอุปถัมภ์ในสังคมยุคนั้น ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้เชิงพื้นที่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
ผลการศึกษานี้ได้นำไปสู่ข้อสรุปสำคัญเชิงนโยบายที่ว่า การกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ ที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นจะต้องเริ่มจากการวิเคราะห์สาเหตุที่มาของปัญหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ในบริบทของสังคมนั้นๆ อย่างไรบ้างเสียก่อน
เนื่องจากการทำความเข้าใจปัญหาให้ถูกต้องจากมุมมองเช่นนี้ จะสามารถช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถก้าวข้ามมายาคติที่ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำของพื้นที่หนึ่ง เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นนั้นเป็นปัญหาเฉพาะของพื้นที่นั้นๆ เอง ซึ่งมักนำไปสู่การกำหนดนโยบายแบบแยกส่วนที่ผิดพลาด เนื่องจากไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง
ที่มา: อารยะ ปรีชาเมตตา และคณะ, พลวัตการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยในเชิงพื้นที่กับปัญหาความเหลื่อมล้ำ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2560.
ให้เสียงประชาชนไปไกลกว่าการเลือกตั้ง
#เลือกตั้ง62