ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้ง2562 : ทิศทางการเมืองไทยกับ "คำมั่นสัญญา"

การเมือง
8 มี.ค. 62
21:12
1,259
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2562 : ทิศทางการเมืองไทยกับ "คำมั่นสัญญา"
วันที่ 10 กับเวที 10 วัน 1000 นาที ชี้อนาคตประเทศไทย พูดคุยกับนักวิชาการเกี่ยวกับทิศทางการเมืองไทยกับ "คำมั่นสัญญา"

วันนี้ (8 มี.ค.2562) วันที่ 10 ไทยพีบีเอส จัดรายการ 10 วัน 1000 นาที ชี้อนาคตประเทศไทย พูดคุยกับนักวิชาการเกี่ยวกับทิศทางการเมืองไทยกับ "คำมั่นสัญญา"

 

 

เห็นหน้าตาของรัฐบาลหรือนายกฯ ชัดเจนหรือยัง

 

 

ผศ.ดร.อรทัย ก๊กผล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า เลือกตั้งครั้งนี้ คาดการณ์ยากมากขึ้น ตอนนี้การเมืองไทยมันเข้มข้นมาก เหมือนซีรี่ส์เกาหลี มีกฎกติกาและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจะมีอิทธิฤทธิ์อะไรบ้าง สิ่งที่น่าสนใจ คือประชาชนให้ความสนใจในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก และอาจทำให้ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งมากขึ้น มีคำถามกันน้อยลง เพราะมีความชอบธรรมทางการเมือง

 

ความกระตือรือร้นของการหาเสียง การดีเบตนโยบาย ซึ่งเป็นข้อดีที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงนโยบายได้ง่าย แต่ก็ยังมีความกังวลถึงความฟรีแอนด์แฟร์ ซึ่งยังไม่ชัดเจนเท่าใดนัก

 

รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า 3 เดือนที่แล้วอาจเห็นภาพชัดมาก ทั้ง ส.ว. 250 คน หรือสิ่งต่างๆ ทำให้มองแล้วชัดเจนมากว่าเขาคนนั้นจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ขณะนี้หากมองเสียงของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าหากรวม 2 ขั้วด้วยกัน เสียงไม่ใช่น้อยๆ แน่นอน 376 เสียง ต้องถึงแน่นอน แล้วพรรคพลังประชารัฐได้เป็นฝ่ายค้าน ส่วนนี้น่าใจว่าเสียง ส.ว.จะเป็นอย่างไร

รศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าวว่า ถ้าเปรียบเทียบกับ 3 เดือนที่แล้ว เรายังไม่รู้ว่าจะมีเลือกตั้งหรือไม่ แต่วันนี้เรารู้แล้วว่ามีแน่ สิ่งที่น่าสังเกต คือเพื่อนบ้านเวลามีเลือกตั้งจะชัดเจนว่าใครจะชนะ แต่บ้านเรา ตอนนี้มันเริ่มคลุมเครือมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วมันจะเข้าสู่รูปแบบเดิมหรือไม่ ที่เมื่อได้รัฐบาล แล้วจะเกิดการประท้วง เกิดการยึดอำนาจ แล้วนำมาสู่รัฐธรรมนูญใหม่ ผมว่าหากจะมองประวัติศาสตร์ไทย สามารถมองได้ผ่านรัฐธรรมนูญ ทั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 จนมารอบนี้ก็ยังเกิดการเขียนที่มีผลบังคับหมดเลย หากมองว่า ฃการรวมขั้วทั้ง 2 ขั้วอยู่ด้วยกันนั้น เป็นไปได้ยาก แต่ดูแล้วเหมือนประชาธิปัตย์มีโอกาสมากกว่า

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า เรื่องเลือกตั้งเป็นเรื่องที่สุดท้ายต้องอยู่ที่คนลงคะแนนเสียง ซึ่งคิดว่าคนส่วนใหญ่ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน หรือฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลปัจจุบัน ส่วนนี้เหมือนเป็นเส้นแบ่งเส้นหลัก ไม่ใช่เรื่องนโยบาย เนื่องจากการเมืองนั้นเป็นเรื่องของปฏิกิริยา เมื่อเห็นว่าฝ่ายหนึ่งกำลังเสียเปรียบก็จะมีการเทคะแนนมา อีกทั้งการเลือกตั้งครั้งนี้ว่างเว้นมานานกว่า 7 ปี ขณะที่มีเสียงจากผู้ที่มีสิทธิออกเสียงครั้งแรกจำนวนมาก จึงทำให้มีการคาดการณ์ได้ยากว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

 

ต่อไปจะมีเรื่องประหลาดใจอะไรเกิดขึ้นอีกบ้าง

 

 

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย กล่าวว่า หลายๆ เรื่อง อาจไม่ถึงขนาดประหลาดใจแบบไม่เคยคาดถึงเลย แต่ต้องเฝ้าดูเรื่องการพิจารณา เช่น วันนี้มีคนไปยื่นยุบพรรคพลังประชารัฐในกรณีเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือแม้แต่คนยื่นยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งต้องอยู่ที่การพิจารณาว่าจะออกมาเป็นอย่างไร สิ่งนี้จะเป็นเรื่องประหลาดใจ แต่หากมีการพิจารณาโดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทั้งหมด คนจะไม่ประหลาดใจ อีกส่วนคือเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ่ายเทไปสู่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมในส่วนของ ส.ว. 250 คน ร่างรัฐธรรมนูญมีอีกแบบหนึ่ง แต่ 250 ส.ว.เป็นเพียงคำถามเพิ่มเติมที่มาทีหลังเท่านั้น ไม่ได้เป็นหมากที่วางมาแล้ว ทำให้ทุกคนประหลาดใจว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร เผลอๆ กกต.อาจประหลาดใจเองด้วยว่าจะดำเนินการอย่างไร

 

 

แม้ว่าจะมีการวางหมากไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่หากอ่านตัวบทกฎหมายอาจจะทำให้อำนาจนั้นลดลงได้ หรือเสียงของประชาชนอาจจะทำให้การทำงานตามหมากนั้นทำไม่ได้

 

ผศ.ดร.อรทัย กล่าวว่า อาจเป็นเรื่องการร้องยุบพรรค ที่เป็นเรื่องของคน 200 คน ที่อยู่ดีๆ ก็ถูกบอกว่า คุณไม่ได้อยู่ในเกม เหมือนกับการเกิดสึนามิ ส่วนนี้จะเป็นเรื่องที่ทำให้ประหลาดใจ เพราะคนตัดสินใจเลือกแล้ว หากเกิดสิ่งนี้จะทำให้เกิดปัญหาได้ อีกส่วน คือเรื่องสี เหลือง ส้ม แดง ดำ และ กกต. โดย กกต.มีบทบาทเรื่องผู้ตรวจการเลือกตั้งด้วย ซึ่งกลไกพวกนี้อาจไม่ใช่เพียงแค่การร้องจากคนอื่นอย่างเดียว

รศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าวว่า กฎหมายบ้านเราขึ้นอยู่กับว่าใครอยู่ในอำนาจ ก็ใช้กฎหมายแบบหนึ่ง ทำให้ดูแล้วไม่เที่ยงธรรม ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้ประหลาดใจ คือกฎหมายไทยเที่ยงธรรม เป็นไปตามครรลอง ไม่เอียงไปฝ่ายใด ขณะที่ผลเลือกตั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2544 ปี 2548 รวมถึง 2 ครั้งล่าสุด ลักษณะที่ออกมาเหมือนกันทั้งหมด แต่กฎกติกาไม่เหมือนกัน ขณะที่การเลือกตั้งรอบนี้ กติกาก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จึงต้องมองว่าผลจะออกมาเป็นแบบเดิมหรือไม่

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ส.ว. 250 คน มีอำนาจแปลกๆ ที่ไม่มีอำนาจออกกฎหมาย และไม่มีส่วนในสภาความไม่ไว้วางใจ แต่มีอำนาจในการเลือกนารัฐมนตรี ดังนั้น สิ่งที่จะมาตัดสิน คือ เสียงของประชาชน เพราะฉะนั้น มันขึ้นอยู่กับอารมณ์และความรู้สึกคน สิ่งที่คนออกกติกาทำไป สุดท้ายคนทำนายไม่สู้คนลิขิต

 

ภาพลักษณ์ ส.ว. 250 คน จะดีขึ้นหรือไม่ในอนาคต

 

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า สังคมแตกแยกมากถึงขนาดที่ไม่สามารถมองคนใดคนหนึ่งดีขึ้นได้ ไม่ใช่คนเชื่อใคร แต่คนเชื่อเรื่องกระบวนการที่ได้มา ดังนั้น ก็คิดว่ายากที่คนจะเชื่อมั่นใน ส.ว. 250 คน

รศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าวว่า ต้องดูด้วยว่าคนที่ได้มาเป็นฝ่ายพลเมืองครึ่งหนึ่ง ฝ่ายทหารครึ่งหนึ่ง อาจจะทำให้ภาพลักษณ์ดีขึ้นบ้าง แต่ก็จะขัดกับกติกาที่วางมา มันมีตัวอย่างมาแล้วอย่าง สนช.ที่เราเห็นว่าเขาคิดเห็นอย่างไร แล้วตำแหน่ง ส.ว. ก็มีที่มาเหมือนกับ สนช. คือมาจากการแต่งตั้ง จึงเป็นไปได้ยากที่จะมีความเห็นแตกต่างออกไป

รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ผมว่าวันลงมติ คือวันวัด ซึ่งหากในวันจริง ส.ว. 250 คน ลงคะแนนตามที่วางหมากมาก็จบ แต่หากมีการกระจายเสียง การทำงานของ ส.ว.ต่อไปในอนาคตอาจจะทำให้ภาพลักษณ์พอไปได้ และทำงานได้อย่างราบรื่น

ผศ.ดร.อรทัย กล่าวว่า ตอนแรกก็มองว่า ส.ว. 250 คน อาจจะมีการแต่งตั้งสภาให้มีคนนอก แต่ปรากฏว่าสิ่งที่เราเห็นมันชัดเจนมาก แต่เขาอาจไม่ถึงขนาดล็อกกันทุกเรื่อง เรื่องเล็กๆ อาจเปิดอิสระนิดหนึ่ง แต่เรื่องใหญ่ๆ คงจำเป็น

 

ภาพการจับมือกันระหว่าง 2 ขั้วจะเป็นอย่างไร

 

รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ในคำพูดของคุณอภิสิทธิ์ มีสมการหลายตัวแปร มันถอดได้หลายแง่มุม เพราะฉะนั้นคุณอภิสิทธิ์พูดหลายวาระว่า ไม่เอาคนโกง ในเมื่อคนโกงไปแล้ว แล้วคนที่อยู่แถวนี้ไม่มีอะไรพิสูจน์ว่าคนแถวนี้โกง ดังนั้น นี่อาจเป็นหนึ่งคำตอบก็ได้

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ในสถานการณ์ตอนนี้ ไม่มีใครจะปิดกั้นตัวเองตั้งแต่ต้น ต้องรอดูต่อไปหลังการลงคะแนนเลือกตั้ง ถึงจะชัดเจนมากขึ้น

รศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าวว่า บางคนสงวนท่าทีอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพรรคขนาดเล็กว่าไปไหนก็ได้ แต่ประชาธิปัตย์สงวนท่าทีว่าไม่ไปเพื่อไทย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูที่ตัวเลข คะแนนเสียงด้วย

 

พรรคไทยรักษาชาติโดนยุบจะส่งผลต่อคะแนนเสียงอย่างไร

 

ผศ.ดร.อรทัย กล่าวว่า ตอนนี้กระแส คือประชาธิปไตย หรือไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกัน เราไม่ได้มองว่าไม่มีพรรคอื่นเข้ามาแทรกโดยเฉพาะคะแนน new voter เพราะตอนนั้นที่มีกระแสเอาคุณทักษิณ หรือไม่เอาคุณทักษิณ ตอนนั้นเขายังเด็ก และความรู้สึกเขาอาจไม่มองปัญหา แต่อยากเห็นประเทศเดินไปข้างหน้า อยากเห็นการลดบทบาทของทหาร ซึ่งส่วนนี้อาจจะเกิดผลคะแนนอีกมุมหนึ่ง แต่ต้องมองว่าส่วนนี้จะทำให้เกิดที่นั่งในสภามากน้อยแค่ไหน

รศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าวว่า พอไม่มีไทยรักษาชาติ หลายๆ เสียงอาจเทมาพรรคเครือข่ายคุณทักษิณ แต่ในส่วนของอนาคตใหม่ เริ่มมีความเป็นไปได้ที่จะได้ ส.ส.เขต แต่ปาร์ตี้ลิสต์อาจจะได้มากหน่อย ในเชิงยุทธศาสตร์ เป็นการเดิมพันที่ล้มเหลวของพรรคไทยรักษาชาติ ทำให้มีการกระจายเสียงไปสู่พรรคอื่น แต่คิดว่าอนาคตใหม่อาจจะได้น้อยๆ หน่อย แต่เสรีรวมไทยอาจจะได้มากหน่อย

 

หากไปหย่อนบัตรจะเลือกอะไร

 

รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ต้องดู ส.ส.ในเขตว่าน่าสนใจหรือไม่ หากมองว่าไม่มีใครน่าสนใจ ไม่มีใครได้เรื่องได้ราว ผมจะกาไม่ประสงค์จะเลือกใคร ตอนนี้รู้เพียงว่ามีพรรคใดบ้าง แต่ยังไม่ทราบว่าผู้สมัครเป็นใคร ดังนั้น การจะเลือกใครสักคนต้องดีทั้งพรรค ดีทั้งคน หากคนไม่เหมาะกับพรรค ผมก็ไม่เลือก

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ไปเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องการสนับสนุนความเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ส่วนจะเลือกใครขอสงวนไว้เป็นความลับ

ผศ.ดร.อรทัย กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อึดอัดและทำให้ต้องหาความรู้มากขึ้น ส่วนช่องไม่เลือกใครเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเสียงของคนที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนมากกว่าเสียงการเลือก ต้องเลือกตั้งใหม่ทั้งเขต ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจ แต่ตอนนี้ส่วนตัวยังไม่สนใจใคร

รศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าใจในครั้งนี้ คือต่างเขต ต่างเบอร์ และ ส.ส.เขต กับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์รวมกันหมดเลย ดังนั้น หากจะเลือกก็ต้องตัดสินใจเลือกทั้งคนทั้งพรรค แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือความกว้างไกลของสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งทำให้ฐานเสียงเดิมอาจสั่นคลอน ไม่เป็นเหมือนเดิม



หลังการเลือกตั้ง รัฐบาลจะนำไปสู่การมีเสถียรภาพหรือไม่

 

 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งในยุคเปลี่ยนผ่าน จึงอยากให้ประชาชนทำใจไว้บ้าง ครั้งนี้จะยากตามที่ใจคาดหวังทุกอย่าง เนื่องจากครั้งนี้รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นมาจะเป็นรัฐบาลผสมแน่นอน ไม่ต้องประหลาดใจ ความเป็นรัฐบาลผสมการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ นั้นยากมาก นอกจากนี้ ยังมีองค์กรอิสระต่างๆ อยู่ด้วยที่อาจจะทำให้ไปต่อไม่ได้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกก็ไม่เอื้ออำนวย

 

เพราะฉะนั้น เลือกตั้งครั้งนี้อยากให้ทำใจเผื่อผิดหวังไว้ มันไม่ใช่ครั้งเดียว แต่ต้องมีครั้งต่อๆ ไป



หลังการเลือกตั้ง จะเกิดความปรองดองขึ้นหรือไม่

 

รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ความปรองดอง เกิดจากการปฏิรูปที่สำเร็จ สิ่งที่สำคัญในไทย คือ การปฏิรูปการทุจริต คนดี คนจน ทำผิดต้องตัดสินเท่าเทียมกัน หากสามารถปฏิรูปสำเร็จ ความปรองดองจะเกิดขึ้น สมมติปฏิรูปสำเร็จ เช่น อยู่ต่างจังหวัดได้รายได้วันละ 200 บาท เมื่อมีการนั่งฟังหาเสียงวันละ 500 บาท ที่ กทม. เขาไม่มา ถ้าเขาได้ 200 บาท อยู่ทุกวันอยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้มันไม่ได้ ได้มาแค่ 20 – 30 บาท เขาก็ต้องตัดสินใจมา ส่วนจุดเริ่มต้นในการปฏิรูป คือแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะเป็นแนวทางในการเดินหน้าต่อไป แต่หากมีการขัดแย้งกันตั้งแต่แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ การก้าวต่อไปก็เป็นไปได้ยาก

ผศ.ดร.อรทัย กล่าวว่า การที่คนออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก เมื่อผลเลือกตั้งออกมา ก็ชัดเจนพอสมควรว่านโยบายบางอย่างต้องมาแน่นอน แต่หากได้บางพรรคก็จะรู้อยู่แล้วว่าอาจต้องปรับรัฐธรรมนูญ อาจจะได้นโยบายอื่นๆ แต่วันนี้ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ตามเข้ามา เขาจะมีพื้นที่ ที่ทำให้การก้าวย่างแรกเข้าสู่ประชาธิปไตยสามารถเดินไปได้ ด้วยความเชื่อมั่นของประชาชน

รศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าวว่า หากวัดจากเสียงของคนที่มาใช้สิทธิภาพอาจไม่ชัดเจน ต้องชั่งใจไว้ด้วยว่าแม้จะมีการใช้สิทธิถึง 80% แต่ก็ยังต้องมองต่อไปอีก แต่สิ่งที่กังวล คือการย่ำอยู่กับที่มา 14 ปี ตั้งแต่การประท้วงปี 2548 แต่รอบนี้มีโอกาสมากที่สุดที่จะผ่านวังวนนี้ เนื่องจากมีกลุ่มผู้ใช้สิทธิครั้งแรก และผู้สูงอายุที่ตกผนึกว่าไม่เอาแล้ว การแตกแยก ที่ทำให้ประเทศเสียหาย เพราะฉะนั้น ตอนนี้แม้จะเป็นยุคเปลี่ยนผ่าน แต่เปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคใหม่ที่น่าจะเดินหน้าต่อไปได้

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า หลังเลือกตั้งแล้วคนอาจจะรู้ว่าไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด แต่การเลือกตั้งมีผลดี คือการกระจายได้เพิ่มมากขึ้น คนตัวเล็กตัวน้อยจะกระจายรายได้มากขึ้น เพราะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ต่างชาติเปิดรับไทยมากขึ้น และมีโอกาสที่ความปรองดองอาจเกิดขึ้นได้

 

มีโอกาสจะเกิดรัฐบาลแห่งชาติหรือไม่

 

รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า รัฐบาลแห่งชาติอาจเกิดขึ้นได้ แต่ต้องดูว่าจะมาจากฝั่งไหน แต่สิ่งสำคัญคือพรรคทั้งหลายควรจะฟังประชาชน ทั้งคนอายุน้อยที่เพิ่งมีโอกาสเลือก และคนสูงอายุที่มีประสบการณ์ หากรับฟังประชาชน และพร้อมก้าวไปด้วยกัน ประเทศก็จะเดินไปข้างหน้าได้

รศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าวว่า สิ่งที่คนมองกันอยู่ คือเราจะแจกไพ่ใหม่ให้มันแฟร์ๆ อย่างไร จะเรียกว่าเป็นรัฐบาลแห่งชาติไหม ก็ต้องขึ้นอยู่กับประชาชน 

 

ประชาชนห่วงเรื่องความขัดแย้ง และการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ จะเป็นอย่างไร

 

ผศ.ดร.อรทัย กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง หรือการแบ่งแยกมากขึ้น อย่างเรื่องของอายุ ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งของอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งเป็นส่วนที่มองได้ว่าความขัดแย้งไม่ได้หายไปจากสังคม แต่อาจเปลี่ยนไปในรูปแบบอื่น ส่วนความเหลื่อมล้ำนั้น เกิดจากระบบราชการ ที่มาจากรัฐบาลรวมศูนย์ ก็จะทำให้ประชาชนต้องพบปัญหาต่างๆ ขณะที่พรรคการเมืองหาเสียงมีแต่นำเสนอนโยบายแต่ไม่ได้บอกกระบวนการดำเนินงาน ดังนั้น จึงอยากฝากประเด็นว่าจะขับเคลื่อนระบบราชการอย่างไร ในภาวะที่การเมืองไม่แข็งแรงพอ

 

การปะทะกันของคนต่างรุ่นจะตัดสินการเลือกตั้งได้หรือไม่

 

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า อาจมองว่าเป็นความแตกต่างของคนระหว่างรุ่น โดยธรรมชาติวัยรุ่นจะมีปฏิกิริยาเกี่ยวกับความกดขี่เป็นเรื่องปกติ หากพรรคการเมืองที่เชื่อมโยงและพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ได้ดีกว่าก็จะทำให้ได้คะแนนเสียงมากกว่า แต่ส่วนนี้ทีดีอาร์ไอได้มีการสำรวจและทำวิจัยกรณี เสื้อเหลืองเสื้อแดง ที่บอกว่าคนเสื้อเหลืองมีฐานะดี คนเสื้อแดงมีฐานะต่ำกว่าหน่อย แต่จริงๆ แล้วในแดงมีเหลือง ในเหลืองมีแดง ดังนั้น ไม่มีอะไรเด็ดขาด คนอายุเยอะอาจมีอนุรักษ์นิยมมากขึ้น แต่การแสดงเจตจำนงร่วมกันของคนในสังคม ไม่ได้อยู่ที่วันที่ 24 มี.ค.เท่านั้น แต่ในอนาคตหากมีปัญหา เราจะร่วมกันก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร ส่วนสัญญาต่างๆ ของพรรคการเมือง อาจไม่ได้ไปได้ง่าย เพราะมีกฎกติกาที่อาจทำให้เกิดปัญหาได้ เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาให้ดีก่อนจะลงมือทำ โดยเฉพาะนโยบายการเงินการคลัง บางนโยบายของรัฐบาลเก่าที่ดีก็ควรคงไว้ ส่วนบางนโยบายไม่ดีก็ต้องปรับปรุง อย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นนโยบายที่ดีที่จะกระจายรายได้ แต่ต้องมีการลงทะเบียนที่เป็นระบบมากกว่านี้ และเก็บฐานข้อมูลอย่างได้มาตรฐาน

รศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าวว่า ความน่าเป็นห่วง คือการเกิดวัฒนธรรมที่การเกิดนโยบาย ต้องหาเสียงด้วยประชานิยม ลดแลกแจกแถม แต่ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นจริงในอนาคต แต่กระบวนการลดความเหลื่อมล้ำต้องมี แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงก็ควรค่อยๆ ปรับเปลี่ยน ไม่ควรหักดิบ อย่างอนาคตใหม่ที่มีนโยบายชัดเจนในการลดงบกลาโหม และขนาดกองทัพ ก็มีนโยบายที่ชัดเจนแต่ไม่ควรหักดิบ มีเพียงไม่กี่พรรคที่มีนโยบายแบบจ่ายๆ อย่างเดียว

 

นโยบายเกี่ยวกับกองทัพกับพรรคการเมือง

 

รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ กังวลมากที่สุด คือความปรองดองและการหาทางออกของประเทศ กังวลเรื่องปากท้อง ผมยังงงเลยว่า ใครกันแน่ที่สร้างความขัดแย้ง เวลามีการชุมชนคนที่ขัดแย้งคือแกนนำทั้งนั้น ประชาชนที่นั่งชุมนุมเขาไม่ได้ทะเลาะกัน หากย้อนกลับไปปัญหาความแตกแยกกัน คือเรื่องของพลเรือนและทหาร เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญ คือต้องมีการประเมินและมองดูด้วยความเป็นจริง ทำไมหลายประเทศลดเกณฑ์ทหาร แต่มีกองกำลังที่เข้มแข็งขึ้น มีคนมาสมัครมากขึ้น ทำไมบ้านเมืองเราพลเรือนกับทหารต้องมาทะเลาะกันอย่างต่อเนื่อง ผมว่ากระทรวง ทบวง กรม และกองทัพ ทั้งหมดเป็นของประชาชนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การจะบอกว่าปฏิรูปหรือไม่ปฏิรูป เป็นสิทธิของประชาชนทั้งนั้น

ผศ.ดร.อรทัย กล่าวว่า บทบาททหารในบรรยากาศเลือกตั้ง อยากให้ทหารอดทนอดกลั้นสักนิด เพราะเราอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร ดังนั้น เมื่อมีแอคชั่นอะไรออกมา คนจะมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ แต่การที่ทหารออกมาเปิดเพลง ส่งคนไปตามผู้สมัคร สร้างบรรยากาศที่ทำให้มีความหวาดกลัว ในขณะที่บรรยากาศของประเทศกำลังเข้าสู่ความเปิดกว้าง

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า จริงๆ แล้วแนวรบความมั่นคง ไม่เหมือนเดิม แต่ไปอยู่ในโลกไซเบอร์แทน ดังนั้น กองทัพต้องมองในความเปลี่ยนแปลง และตัดสินใจปฏิรูปตัวเอง จะเจ็บตัวน้อยกว่า

รศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าวว่า กองทัพบกยังติดอยู่ในสงครามเย็น หากดูจากหลักสูตร การฝึกซ้อม และอาวุธ เขายังไม่เปลี่ยนผ่าน ขณะนี้ผมมองว่าเขากังวลมาก แล้วยิ่งมีคนมาบอกว่าจะลดงบ จะปฏิรูปก็ยิ่งทำให้เขาหวั่นเกรงและหึกเหิมมากขึ้น แต่การจะปฏิรูปก็ต้องขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำว่าจะปฏิรูปอย่างไร

 

ประชาชนควรทำอย่างไร ไม่ให้เกิดความขัดแย้งเหมือนที่ผ่านมา

 

 

รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นก้าวหนึ่งที่เราต้องเดินไป ดังนั้น ประชาชนต้องทำการบ้านด้วย แต่ต้องยอมรับว่ากติกายังทำให้ประชาชนสับสน แต่ประชาชนก็ต้องทำการบ้านด้วย การปรองดองเป็นประเด็นหลัก

 

ต้องคิดว่าต้นทุนที่ผ่านมา 14 ปี ดูประเทศเพื่อนบ้าน สงครามการค้า หากเราจะติดกับดักเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็ได้ แต่หากคิดถึงตัวเองและลูกหลานก็ควรตัดสินใจปรองดองกัน เพื่อเดินไปข้างหน้า

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ประชาชนอย่าใช้ถ้อยคำที่ไปละเมิดจิตใจอีกฝั่งหนึ่ง ต้องปฏิบัติด้วยความคิดว่าทุกคนคือมนุษย์เหมือนกัน หากเขาไม่เห็นด้วยกับเรา เราไม่เห็นด้วยกับเขา ควรพูดคุยและหักล้างกันด้วยเหตุผล

ผศ.ดร.อรทัย กล่าวว่า ประชาชนอาจจะกำลังงงว่า สัดส่วนแต่ละพรรคได้เท่าไหร่ กกต.อาจจะต้องให้ความรู้และทำให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้น ส่วนต่อไป คือการนับคะแนน อาจมีการร้องเรียน หากทำไม่ชัดเจน ประชาชนที่เป็นกองเชียร์ในที่ต่างๆ หลังจากปิดหีบเลือกตั้ง ต้องระวังไม่ให้นำไปสู่ความขัดแย้งระดับพื้นที่

รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ไม่อยากให้ประชาชนกังวลเกี่ยวกับรัฐบาลผสม เพราะบ้านเมืองเราไม่เคยมีรัฐบาลพรรคเดียว เพราะฉะนั้น อย่ากังวล อย่างไรเสีย หากประชาชนเกาะติดนโยบายอะไรที่พรรคการเมืองบอกหรือสัญญาไว้ ศึกษาดูความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ คัดสิ่งดีๆ ช่วยกันผลักดัน เพื่อให้รัฐบาลเป็นรัฐบาลของทุกคน ประชาชนต้องร่วมกันกดดันเพื่อให้นโยบายเป็นจริงให้ได้

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทางเลือกที่สมดุล พัฒนาเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อม 

รัฐสวัสดิการ นโยบายขายฝัน? 

คำสัญญา "นักการเมือง" ต้านคอร์รัปชัน 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง