ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Insight : เลือกตั้งล่วงหน้ายอดพุ่ง! แต่ "คำถาม" ตามมาเพียบ

การเมือง
18 มี.ค. 62
15:59
438
Logo Thai PBS
Insight : เลือกตั้งล่วงหน้ายอดพุ่ง! แต่ "คำถาม" ตามมาเพียบ
คนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ากว่า 75% เป็นสัญญาณที่ดีต่อความตื่นตัว แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ "ความไว้วางใจ" ของประชาชนและคำถามเกี่ยวกับความโปร่งใสของกระบวนการเลือกตั้ง

ไม่ว่าแง่ดี-แง่ร้ายของการเลือกตั้งล่วงหน้า ล้วนสะท้อนสัญญาณทางการเมืองต่อการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม ซึ่งเหลือเวลาไม่ถึง 7 วัน นับจากนี้

วันที่ 17 มีนาคม หน่วยเลือกตั้งที่คับคั่งด้วยผู้คนและการจราจร สะท้อนภาพความตื่นตัวของคนต่อการเลือกตั้ง ดังข้อสรุปของ กกต. ที่เผยตัวเลขคนมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้ามากถึง 75% ทั่วประเทศ มากกว่าเลือกตั้งล่วงหน้า ปี 2554 ที่มีคนใช้สิทธิจริงแค่ 55% เท่านั้น

ที่สำคัญทุกหน่วยใน กทม. ไม่มีเขตใดที่มีผู้ใช้สิทธิต่ำกว่า 80% และบรรยากาศเลือกตั้งล่วงหน้าในหัวเมืองใหญ่เหนือ อิสาน ใต้ คึกคักไม่แพ้กัน

คนใช้สิทธิ์สะท้อนอะไร ?

ไม่ใช่เพียงตัวเลขคนมาใช้สิทธิ์เป็นตัวการันตี แต่พฤติกรรมอันเป็นความพยายามก็เป็นปัจจัยสะท้อน "ความอยาก" เลือกตั้งได้เป็นอย่างดี

เลือกตั้งล่วงหน้า มีคนร้ายปลอมตัวเพื่อมาใช้สิทธิ แต่ตำรวจจับได้จึงพยามหลบหนีและเลือกโดดน้ำจบชีวิต

เลือกตั้งล่วงหน้า มีคนวิ่งไปเลือกตั้งให้ทันเวลาปิดหีบ 17.00 น. ทว่าไปไม่ทันเป็นลมหน้ามืด แม้เจ้าหน้าที่จะรอนาน 30 นาที แต่เจ้าตัวลุกไม่ไหวจึงยอมสละสิทธิ

เลือกตั้งล่วงหน้า มีผู้พิการและคนที่อยู่ระหว่างรักษาตัว เลือกนั่งวีลแชร์ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า ขณะเดียวกัน "คนหน้าใหม่" หรือ First Time Voter ที่ถูกดูแคลนว่าไม่ตื่นตัวทางการเมือง กลับไปใช้สิทธิเป็นจำนวนมาก และหัวข้อ #เลือกตั้งล่วงหน้า ยังขึ้นเป็นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ด้วย

ยอดผู้ใช้สิทธิ์และ "ความอยาก" เลือกตั้งของคนไทยเป็นสัญญาณที่ดี ไม่ว่าจะเป็นแง่ของความตื่นตัวและการรักษาสิทธิ แม้กระทั่งตีขลุมถึงความพยายามในการสร้างความเปลี่ยนแปลงตามระบอบประชาธิปไตย 

แต่อีกมุมหนึ่งคือฝันร้ายของการเลือกตั้ง นั่นคือ "ความกังวล" ของประชาชนที่ปรากฎชัด แม้มีคนมาใช้สิทธิ์มาก แต่ "คำถาม" ต่อความโปร่งใสในการเลือกล่วงหน้าก็มากเช่นกัน 

ความกังวลว่าบัตรเลือกตั้งจะถูกเปลี่ยน เช่น ไม่ปั๊มลายนิ้วมือ, ซองใส่บัตรเลือกตั้งมีเพียงลายเซ็นเจ้าหน้าที่, เก็บบัตรเลือกตั้งนาน 7 วันรอนับในวันที่ 24 มีนาคม ฯลฯ

ความกังวลต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ เช่น แจกบัตรผิดเขต-ผิดจังหวัด กรณีอื้อฉาวคือนักข่าวการเมืองที่โดนกับตัวระหว่างการใช้สิทธิ์ในหน่วยเลือกตั้งเขตดุสิต กทม. โชคดีที่เป็นนักข่าวรู้ตัวจึงไม่เสียสิทธิ แต่หากเป็นคนทั่วไปคงไม่สามารถโต้แย้ง อย่างกรณีที่ผู้เสียหายกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่บอกว่า "กาๆไปเถอะ"

แล้วการเลือกตั้งล่วงหน้าสะท้อนอะไร ?

1. สะท้อน "ความอยาก" เลือกตั้ง ถ้ายอดนี้เป็นแรงส่งในการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม เป้าของกกต. คือคนมาใช้สิทธิ์ไม่ต่ำ 80% คงไม่ไกลความจริง ซึ่งจะกลายเป็นยอดผู้ใช้สิทธิ์ที่สูงสุดในประวัติศาสตร์เลือกตั้งไทย เพราะเลือกตั้ง ปี 2554 ที่ว่ามากสุดมีคนมาใช้สิทธิ์แค่ 75% ขณะที่การประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีผู้มาใช้สิทธิ 60%

2. สะท้อนความหละหลวมของ กกต. แม้ กกต. จะมีคำอธิบายทุกๆ กรณี แต่ความไว้วางใจของประชาชนต่อการเลือกตั้งเป็นปัญหา! และหากมีความไม่ไว้ใจอย่างนี้ในวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม ย่อมมีผลต่อ "ความชอบธรรม" ของการเลือกตั้ง และส่งผลต่อความไว้วางใจรัฐบาลในอนาคต

8 ปี หลังเลือกตั้ง ปี 2554 และ 5 ปี หลังรัฐประหาร ปี 2557 "ความอยาก" เลือกตั้ง จะแง่ไหนก็นับเป็นข้อดี ไม่ว่าคนจะเลือกหนุนขั้วใดหรือผู้สมัคร ส.ส.พรรคการเมืองใด

แต่หลุมพลางที่จะล้มการเลือกตั้ง คือ "ความไม่ไว้ใจ" ของคนที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพราะความไว้ใจจะเป็นต้นทุนสำคัญต่อ "ความชอบธรรม" ทางการเมือง นั่นนับรวมสถานการณ์ของประเทศหลังการเลือกตั้งด้วย 

ประเทศจะเดินต่อได้หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นกับการจัด "เลือกตั้ง" อย่างเดียว แต่หมายถึงการยอมรับต่อกระบวนการด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง