"ช้างชนช้าง" สำนวนไทยในฤดูเลือกตั้ง ที่มักจะพบผู้สมัคร ส.ส. เบอร์ใหญ่ชิงคะแนนกับขั้วตรงข้ามที่เป็นเบอร์ใหญ่เสมอกัน แต่ฟังเผินๆ คล้ายสุภาษิต "ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกแหลกลาญ"
หมายถึง ใหญ่ปะทะใหญ่ แต่ผู้น้อยกลับได้รับผลกระทบ ไม่ต่างจากการเลือกตั้ง ที่ใหญ่ปะทะใหญ่ นอกจากเสี่ยงเจ็บตัวทั้งคู่ ยังอาจเป็นการตัดคะแนนกันเอง และอาจเปิดโอกาสให้ผู้ท้าชิงลำดับ 3 ช่วงชิงคะแนน
1 ศึกสายเลือด "เนื่องจำนงค์"
ตระกูลเดียวกันฟัด 1 ต่อ 1 ว่าทึ่งแล้ว แต่ตระกูล "เนื่องจำนงค์" ส่งผู้สมัคร ส.ส. นามสกุลเดียวกันถึง 3 คน ชิง ส.ส.ชลบุรี เขต 4
1. สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ อดีต ส.ส. 2 สมัย ย้ายจากประชาธิปัตย์ มาสังกัดพลังประชารัฐ (ลูกชายของ ประโยชน์ เนื่องจำนงค์)
2. พรรณธฤต เนื่องจำนงค์ ผู้สมัคร ส.ส. ประชาธิปัตย์ (หลานชายของ ประโยชน์ เนื่องจำนงค์)
3. สมชาย เนื่องจำนงค์ ผู้สมัคร ส.ส. อนาคตใหม่ (หลานชายของ ประโยชน์ เนื่องจำนงค์)
สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ที่มา สำนักข่าวไทยโพสต์
พรรณธฤต เนื่องจำนงค์ ที่มา เฟซบุ๊กพายุ เนื่องจำนงค์
แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ 4. จิรวุฒิ สิงห์โตทอง ผู้สมัคร ส.ส. เพื่อไทย ที่น่าจะชิงคะแนนจากการปะทะกันของคนในตระกูล "เนื่องจำนงค์" เพราะเป็นคู่แข่งตระกูลดังที่คะแนนสูสีในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
ศึกสายเลือดเดือดไม่หยุด ตระกูล "เทียนทอง" ผู้ครองฐานเสียง จ.สระแก้ว แบ่งฐานเสียงเป็น 2 ขั้ว ขั้วเดิมนำโดย "ป๋าเนาะ" หรือ เสนาะ เทียนทอง กุนซือใหญ่ขั้วเพื่อไทย ในขณะที่หลานๆ ย้ายไปสังกัดพลังประชารัฐ
เขต1 ฐานิสร์ เทียนทอง (หลานชาย) ผู้สมัคร ส.ส. พลังประชารัฐ vs สนธิเดช เทียนทอง ผู้สมัคร ส.ส.เพื่อไทย (หลายชาย)
เขต2 ตรีนุช เทียนทอง (หลานสาว) ผู้สมัคร ส.ส.พลังประชารัฐ vs พ.ต.อ.พายัพ ทองชื่น (เด็กปั้นป๋าเนาะ)
ส่วนตัวอย่างศึกสายเลือดที่ จ.เพชรบูรณ์ เป็นอีกแห่งหนึ่ง ที่ตระกูล "พรพฤฒิพันธุ์" ต้องแข่งกันเองในเขต 1 คือ วิจิตร พรพฤฒิพันธุ์ (อา) ผู้สมัคร ส.ส. ชาติไทยพัฒนา และ พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ (หลานสาว) ผู้สมัคร ส.ส. พลังประชารัฐ
ทั้ง 3 เคส มีขั้วใหม่ให้ตระกูลได้ห่ำหั่นคือ พลังประชารัฐ ที่เปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ชื่อดังชิงฐานเสียง
2 จากศัตรูเป็นมิตร จากมิตรเป็นศัตรู
30 ปีที่แล้ว คงไม่มีใครรู้ว่า ประภัตร โพธสุธน และจองชัย เที่ยงธรรม เคยเป็นคู่แข่งกันมาก่อน
เพราะภาพจำของ ประภัตร-จองชัย คือมือซ้าย-ขวา ของ บรรหาร ศิลปอาชา ฉายามังกรสุพรรณผู้ล่วงลับ และถูกจดจำในฐานะกุนซือใหญ่ของชาติไทยพัฒนาทั้งคู่
อย่างที่รู้กันเหตุแตกหัก ประภัตร-จองชัย มาจากการที่ประภัตรจะส่งหลานชายลง ส.ส. ในนามพลังประชารัฐ แข่งในเขต 4 สุพรรณบุรี ซึ่งเขตเดียวกับลูกชายของจองชัยที่เตรียมลง ส.ส.ในนามชาติไทยพัฒนา ทว่าการต่อรองไม่ทันจบ จองชัย ตัดสินใจย้ายสังกัดภูมิใจไทย อย่างไรก็ตามหลานชายของประภัตร ก็ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส.ในนามพลังประชารัฐตามแผน
ประภัตร โพธสุธน
จองชัย เที่ยงธรรม
ใครจะรู้ทั้งคู่เคยปะทะกันมาแล้วในการเลือกตั้ง จ.สุพรรณบุรี ตั้งแต่ปี 2526 ยุคนั้นใช้ระบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ (เขต 2 สุพรรณฯ มีส.ส.ได้ 2 คน)
ปี 2526 ส.ส. คะแนนอันดับ 1 คือ จองชัย พรรคกิจสังคม และอันดับ 2 ประภัตร พรรคชาติไทย
ปี 2529 ส.ส. คะแนนอันดับ 1 คือ ประภัตร พรรคชาติไทย และอันดับ 2 จองชัย พรรคสหประชาธิปไตย
ต่อมามีส.ส.สุพรรณดึง จองชัย เข้าสังกัดชาติไทย และทำให้ บรรหาร ศิลปอาชา บริหารสุพรรณได้เต็มที่ เพราะมี 2 เสือ จองชัย - ประภัตร อยู่คู่กายทั้งซ้าย-ขวา
สองศึกใหญ่ที่ทั้งคู่ผลัดกันแพ้-ชนะ แต่ได้เป็นส.ส. เข้าสภาฯ ทั้งคู่ เพราะระบบเลือกตั้งยุคนั้น แต่ครั้งนี้จะมีเพียง 1 เดียว ที่จะได้เก้าอีก ส.ส.เขต 4 สุพรรณบุรี
3 หนุน "นายกฯ" คนละคน-ชนกันเอง
นอกจากส่ง "คน" ปะทะในพื้นที่หาเสียง วิวาทะระหว่างค่ายรวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และประชาธิปัตย์ (ปชป.) หึ่มๆ ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม เมื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ประกาศ "ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ"
นำมาสู่วาทะของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ รปช. ที่ประกาศว่า "ถ้าอภิสิทธิ์ไม่มีสุเทพ ชาตินี้ไม่มีทางได้เป็นนายกฯ" จบที่ "นายหัวชวน" ชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ตอกกลับสุเทพ "เมื่อตำหนิประชาธิปัตย์ ก็เหมือนตำหนิแม่ตัวเอง"
เมื่อช้างสารชนกัน... บทหนักจึงตกอยู่ที่ตัวผู้สมัคร ส.ส. โดยเฉพาะ จ.สุราษฎร์ธานี ที่รวมพลังประชาชาติไทยหวังได้ ส.ส.ในพื้นที่นี้ เพราะเป็นฐานเสียงเดิมของตระกูล "เทือกสุบรรณ" เมื่อสมัยสังกัด ปชป.
สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มา เพจพรรครวมพลังประชาชาติไทย
เขต 1 ธานี เทือกสุบรรณ (น้องชายสุเทพ) ผู้สมัครส.ส.รปช. ปะทะ ภาณุ ศรีบุศยกาญจน์ ผู้สมัครส.ส. ปชป.
เขต4 เชน เทือกสุบรรณ (น้องชายสุเทพ) ผู้สมัครส.ส.รปช. ปะทะ สมชาติ ประดิษฐ์พร ผู้สมัครส.ส. ปชป.
เขต 6 ภูมิ เทือกสุบรรณ (ลูกพี่ลูกน้องสุเทพ) ผู้สมัครส.ส.รปช. ปะทะ ธีรภัทร พริ้งศุลกะ ผู้สมัครส.ส.ปชป.
หญ้าแพรกก็แหลกลาน... แต่ไม่ถึงขั้นเสียคะแนนไปยังมือที่สาม มั่นใจได้ แม้ห่ำหั่นกันเอง อย่างไรเสียคะแนนก็ไม่เทไปพรรคอื่น
ช้างชนช้างในเลือกตั้ง 62 จึงเป็นภาพการเมืองฉายซ้ำ มีทั้งตระกูลดังเฉือดกันเอง, เปลี่ยนคนจากมิตรเป็นศัตรู, และเมื่อแตกพรรคแยกอุดมการณ์การเมืองเปลี่ยน ฯลฯ
ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ... ยังดีที่หญ้าแพรกกรณีนี้ไม่ใช่ประชาชน แต่เป็นผู้สมัคร-พรรค ที่ได้รับผลกระทบ
ส่วนคนไหนคบได้ ไว้ใจได้ เลือกเป็นผู้แทนฯ ได้ ก็แล้วแต่ท่านผู้ชมจะพิจารณา
เจษฎา จี้สละ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส