วันนี้ (20 มี.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ฉะเชิงเทรา ติดตามความคืบหน้าของการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ และเดินทางต่อไปยังโรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร ติดตามผลการดำเนินงานของ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC พร้อมมอบนโยบายและเยี่ยมชมโครงการท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีของ จ.ฉะเชิงเทรา โดยการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นการกำหนดพื้นที่เป้าหมายนำร่องใน 3 จังหวัด คือฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง และกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับการลงทุน และการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจและการอำนวยความสะดวก
สำหรับในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา จะมีการพัฒนาทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายคมนาคม ทั้งรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการก่อสร้างทางคู่เส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา - คลองสิบเก้า - แก่งคอย การพัฒนาสาธารณูปโภคทั้งไฟฟ้าและประปา รวมทั้งยังมีอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (EV/AV) ได้รับการส่งเสริมในการรองรับ EEC
ขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนกว่า 100 คน เตรียมพร้อมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยกับโครงการ EEC ประกอบด้วย กลุ่มพนมสารคาม ที่ได้รับผลกระทบโรงงานขยะพิษ, เครือข่ายโยธะการักษ์ถิ่น จาก อ.บางน้ำเปรี้ยว ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเวนคืนที่ดินราชพัสดุ และที่ดินของทหารเรือ, เครือข่ายชาวบ้านหนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ ที่กำลังจะถูกเปลี่ยน เพื่อสร้างโครงการท่าเรือบก (ICD) และเครือข่ายเขาดิน อ.บางปะกง ที่กำลังจะเปลี่ยนที่นาสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ใหม่บลูเทคซิตี้ มาพร้อมป้ายเชิงสัญลักษณ์ไม่เอาโครงการ EEC
และในช่วงบ่ายวันนี้ นายกรัฐมนตรี มารับหนังสือข้อร้องเรียนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ EEC ด้วยตัวเอง ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา จากคำบอกเล่าของตัวแทนมอบหนังสือ ระบุว่า เบื้องต้น นายกรัฐมนตรี รับปากจะอ่านทั้งหมด และส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว
สำหรับเนื้อความจดหมายจากกลุ่มเครือข่ายรักแม่พระธรณี โดยสรุป คือการทวงถามข้อเรียกร้องเดิมให้คงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ต.บางนาง ต.เกาะลอย ต.เขาดิน ต.บางผึ้ง และ ต.หนองตีนนก ให้อยู่ในประเภทชนบท และเกษตรกรรม ตามเจตนารมณ์ของผังเมืองเดิม ด้วยเหตุผลว่าเป็นพื้นที่สำคัญในการผลิตอาหารประเภทสัตว์ของประเทศ และของโลก คือน้ำจืด สัตว์น้ำทะเล โรงเพาะฟักลูกพันธุ์สัตว์น้ำไวอ่อน ตรงกับข้อมูลของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่ระบุชัดว่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี และเป็นพื้นที่รับน้ำ สอดคล้องกับข้อมูลของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่ระบุชัดว่า เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม และเสี่ยงภัยน้ำล้นตลิ่ง-น้ำทะเลหนุน
พื้นที่ดังกล่าวประกอบด้วย ลำรางหลักในการระบายน้ำหลักของลุ่มน้ำบางปะกงซึ่ง โครงสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรม และไอซีดี ทั้ง 3 โครงการ ยังวางทับเส้นทางน้ำระบายน้ำหลักเกือบทั้งหมดของคลองแนวตั้ง ที่ใช้ในการระบายน้ำจากลุ่มน้ำคลองหลวง สาขาของลุ่มน้ำบางปะกง ขณะที่โครงสร้างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟทางคู่ พื้นที่เสี่ยงภัยแนวท่อแก๊สระเบิด และชุมชน ระหว่างสถานีดอนสีนนท์ ถึงสถานีพานทอง ไม่อาจเข้ากันได้ในหลักแห่งความปลอดภัย ของผู้โดยสาร และชุมชนท้องถิ่นซ้ำยังไม่มีข้อมูลใดๆ ในกระบวนการทำประชาพิจารณ์โครงการ พร้อม 5 ข้อเสนอ
1.ขอให้ยกเลิกเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ชลบุรี, โครงการนิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้ฉะเชิงเทรา และโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์รองรับ อีอีซี (ไอซีดี ฉะเชิงเทรา), 2.ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ อันประกอบด้วยคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นายอำเภอบางปะกง นายกองค์บริหารส่วนตำบลเขาดิน ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้มีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้ฉะเชิงเทราที่ก่อสร้างผิดกฎหมาย และขอให้ออกคำสั่งให้หยุดการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้ฉะเชิงเทราที่ก่อสร้างผิดกฎหมายทันที
3.ขอให้คงไว้ซึ่งการใช้ประโยชน์ที่ดิน ต.บางนาง ต.เขาดิน ต.บางผึ้ง และต.หนองตีนนก เพื่อชนบท และการเกษตรกรรม หรือผังเมืองสีเขียว, 4.ขอให้ทบทวนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงรถไฟทางคู่ ที่เกี่ยวพันกับพื้นที่เสี่ยงภัยแนวท่อแก๊สระเบิด รักษาผลประโยชน์ สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติของประชาชนไว้อันเป็นกฎหมายสูงสุดอันละเมิดมิได้ และ 5.มีชาวบ้านพบไร้ที่อยู่อาศัยไร้ที่ดินทำกิน เป็นผลมาจากผลกระทบของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่ ต.เขาดิน อ.บางปะกง และข้างเคียง ขอให้ตั้งคณะทำงานมาตรวจสอบแล้วแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ตามนโยบายที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างจริงจัง