หลังผลการวิจัยระบุว่าพบสารปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในปลาดอร์ลี่นำเข้าเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึงร้อยละ 25 จากตัวเลขนำเข้า
วันนี้ (21 มี.ค.2562) นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.เตรียมประสานผู้วิจัยเพื่อขอรายละเอียดการสุ่มตัวอย่างตรวจสอบการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในปลาดอร์ลี่ ซึ่ง อย.จะได้ตรวจหายาปฏิชีวนะในสัตว์ทางกลุ่ม เตตร้าซัยคลิน และซัลโฟนาไมด์ รวมทั้งประสานปศุสัตว์ให้ตรวจสอบฟาร์มเลี้ยงปลาด้วย
นพ.สุรโชค ระบุว่า ยังไม่สามารถออกมาตรการระงับการจำหน่าย หรือนำเข้าสินค้าได้ จนกว่าจะมีการตรวจพิสูจน์ความชัดเจนเพื่อพิจารณาออกมาตรการนำเข้าปลาดอร์ลี่ในประเทศไทย โดยวันนี้ อย.สั่งการให้เจ้าหน้าที่ส่งตรวจวิเคราะห์กลุ่มปลานำเข้าตามด่านชายแดนและจุดนำเข้าต่าง ๆ รวมถึงตลาดสดและซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีการวางจำหน่าย คาดว่าจะรู้ผลภายใน 1-2 วัน
ที่ผ่านมา อย.ตรวจสอบหาโลหะหนักในปลาที่นำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น ไม่พบการปนเปื้อนเกินมาตรฐานความปลอดภัย ส่วนการตรวจสอบสารปนเปื้อนยาปฏิชีวนะจะทำเฉพาะปลาเลี้ยงและจำหน่ายในประเทศ
รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ขอให้ผู้บริโภคอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากยาปฏิชีวนะสามารถสลายจากการผ่านความร้อนในการปรุงอาหารให้สุก แม้จะไม่สามารถกำจัดได้หมด แต่จะช่วยลดปริมาณยาลงได้
ระยะนี้มีความนิยมการรับประทานอาหารดิบมากขึ้น แต่ควรปรุงปลาดอร์ลี่ให้สุกก่อน