ผ่านเดือน มี.ค.มาแล้ว นับว่าประเทศไทย เริ่มพ้นจุดวิกฤตภัยแล้งทั่วประเทศมาได้ เพราะหลังจากเข้าสู่เดือน เม.ย.ฝนเริ่มตกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่บางพื้นที่ยังคงต้องเผชิญกับวิกฤตภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (4 เม.ย.2562) ทีมข่าวไทยพีบีเอส ตรวจสอบข้อมูลกับ ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน. ระบุว่า ภัยแล้งปี 2562 ต่างจากปี 2557-2558 เพราะในปีนั้นเป็น “ซูเปอร์เอลนีโญ” อุณภูมิของทะเลเกินค่าปกติถึง 2 องศาเซลเซียส ทำให้ในเขื่อนหลักเกือบทุกแห่งไม่มีน้ำใช้การ เนื่องจากฝนมาช้าและตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย
ขณะที่ปีนี้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ก็ยังน่าต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ในพื้นที่น้ำใช้การในเขื่อนหลักเหลือน้อย โดยเฉพาะภาคกลาง เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี น้ำใช้การเพียงร้อยละ 6 เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี มีน้ำใช้การร้อยละ 15 นับว่าเป็น 2 จังหวัดที่ต้องจับตาในพื้นที่ภาคกลาง และเขื่อนอุบลรัตน์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เหลือน้ำใช้การน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น
แย่งน้ำกิน-น้ำใช้จะไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยปี 2557-2558
ดร.สุทัศน์ ย้ำว่า น้ำต้นทุนลุ่มน้ำเจ้าพระยาปีนี้ โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังมีน้ำใช้การเพียงพอถึงต้นฤดูฝน แต่อยู่ในแผนการบริหารจัดการใช้น้ำของกรมชลประทาน น้ำจำนวนนี้จะไม่ระบายมาเพื่อทำการเกษตร
ปัจจัยนี้จะทำให้พื้นที่ภาคกลางที่มีน้ำใช้การในเขื่อนน้อยอยู่แล้ว เช่น สุพรรณบุรี และอุทัยธานี ได้รับผลกระทบหนัก แต่คาดว่าปัญหาแย่งชิงน้ำระหว่างน้ำเพื่อการเกษตรและน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคจะไม่เกิดขึ้นซ้ำรอย ปี 2557-2558 เพราะอิทธิพล พายุเบบินคา และเซิญติน ที่เข้ามาทำให้น้ำในเขื่อนหลักมีน้ำเพียงพอ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับว่าเกษตรกรจะปลูกข้างนาปรังรอบ 3 มากน้อยแค่ไหน
น้ำต้นทุนปีนี้มีน้อยบางเขื่อนเท่านั้น แต่น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคมีถึงเดือน พ.ค. และถ้าเกษตรกรลดการทำข้าวนาปรังรอบ 3 จะมีน้ำครบทุกภาคส่วนการใช้น้ำ
กปภ.เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 18 จังหวัด - นอกเขต 7 หวัด
ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งและการช่วยเหลือ 3 จังหวัด 8 อำเภอ 30 ตำบล คือ จ.ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และตราด ขณะที่การประปาส่วนภูมิภาควิคราะห์ พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคปี 2562 ในเขตพื้นที่บริการ มีทั้งหมด 234 สาขา 74 จังหวัด จากการประเมินน้ำต้นทุน และเตรียมแหล่งน้ำสำรองพบว่า
ปีนี้มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 18 จังหวัด ใน 25 อำเภอ จำนวน 20 สาขา
ภาคเหนือ 6 จังหวัด
- เชียงใหม่
- ลำปาง
- แม่ฮ่องสอน
- เพชรบูรณ์
- พิษณุโลก
- สุโขทัย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด
- ขอนแก่น
- หนองบัวลำภู
- นครราชสีมา
- บุรีรัมย์
- ร้อยเอ็ด
- มหาสารคาม
ภาคตะวันออก 3 จังหวัด
- ฉะเชิงเทรา
- ชลบุรี
- จันทบุรี
ภาคใต้ 3 จังหวัด
- สุราษฎร์ธานี
- พังงา
- ภูเก็ต
ส่วนพื้นที่นอกเขตบริการ มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ 7 จังหวัด 12 อำเภอ ภาคเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา และภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี และราชบุรี