พ่อจ๋าๆ หนูขอเล่นน้ำหน่อย เสียงเล็ก ๆ ของเด็กหญิงวัยกำลังซน บอกกับพ่อที่กำลังขะมักเขม้นค้นหาของบางอย่างบนสามล้อพ่วงข้าง
“หนูขอๆ” แววตาและน้ำเสียงดีใจของเธอกับน้องๆอีก 2 คนวิ่งไปหาพ่อทันทีที่เขาหยิบปืนฉีดน้ำสีเหลือง สีเขียว และสีฟ้าออกมาแจกลูก ๆ
ทีมข่าวเฝ้ามองอยู่สักพักและแอบอมยิ้มกับภาพของครอบครัวนี้ พร้อมกับหลายคำถามที่อยากรู้เกี่ยวกับครอบครัวนี้
ทำไมพ่อต้องไปซื้อน้ำดื่มขวดใหญ่มาใส่ปืนฉีดน้ำ?
แล้วทำไมรถสามล้อพ่วงข้างของครอบครัวนี้ถึงดูคล้ายกับบ้านเคลื่อนที่?
แม่ของเด็กน้อยหายไปไหน?
ทำไมเด็ก ๆ ถึงมีความสุข และหยอกล้อกับพ่อไม่ห่าง?
ทีมข่าวตัดสินใจอยู่สักพักและสุดท้ายต้องยอมจำนนต่อความอยากรู้คำตอบที่วนเวียนเหล่านี้
“จะไปไหนกันเหรอค่ะพี่”? การเริ่มต้นบทสนทนา แม้จะกังวลว่าจะออกหัวออกก้อย แต่สายตามองมาพร้อมรอยยิ้มกว้างของเขา ตอบกลับมา “จะกลับบ้านที่สระบุรี”
แสง พันธุ์เพชร วัย 50 ปี พร้อมกับลูกสาว น้องปาน วัย 7 ขวบ และน้องวัย 5 ขวบ และ 3 ขวบ ออกเดินทางด้วยรถสามล้อพ่วงข้าง ใช้ชีวิตแบบค่ำไหนนอนนั่น แวะปั้ม นอนวัดมาสักพัก
ผมมีญาติแต่ไม่อยากไปรบกวนเขา แต่จะไปเช่าห้องส่วนใหญ่เขาก็ต้องมีค่ามัดจำและถ้ามีเด็กหลายคนเขาก็ไม่ค่อยอยากให้อยู่
เมื่อถามว่าห่วงลูกไหมใช้ชีวิตแบบนี้
แสง บอกว่า ห่วงเพราะว่าเด็ก ๆ ยังเล็กมาก อยู่บนรถอาจเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเวลา ค่ำไหนนอนปั้ม ต้องคอยดูแลไม่ให้คลาดสายตา
ส่วนใหญ่วิ่งตามทาง ถ้ารู้สึกร้อนจะให้เด็กแวะปั้มอาศัยแอร์จจากร้านสะดวกซื้อให้เขาปรับตัว บางเส้นทาง บางทีเจอปั้ม ก็หวงไม่ให้เด็กเข้าลำพัง เพราะกลัวเด็กทำห้องน้ำเลอะเทอะ
แสง บอกว่า ห่วงต่อมา คืออยากมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และที่ขายของ เพราะอาชีพที่ทำมาหาเลี้ยงลูก ๆ แต่ละวัน คือการทำที่ตักผงขายวันละ 5-6 ชิ้น รายได้ 300-400 บาท
เคยขอความช่วยเหลือกับหน่วยงานมั้ย?
แสง บอกว่าเคยไปแต่แค่เกิดความรู้สึกเหมือนจะทอดทิ้งลูกไป เพราะเด็กอาจต้องไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานนั้น แทนที่จะอยู่กับพ่อแม่ และครอบครัวของแสง ก็ไม่ใช่แบบคนที่พาลูกไปทิ้ง สุดท้ายเลยคิดว่าเด็กต้องอยู่กับพ่อกับแม่ถึงจะอบอุ่น
แสง บอกว่า ชอบเล่นกับลูก ใกล้ชิดกับลูกเพราะอยากให้ลูกมีความสุข และไม่อยากให้เด็ก ๆ ซึมเศร้า เพราะเห็นสิ่งแวดล้อมตอนนี้เป็นแบบนี้กันเยอะ
ต้องทำตัวเป็นพ่อที่ดีของลูกให้มากที่สุด ถ้าเขาโตมาแล้วไม่ดูแลเราก็ไม่ว่า แต่ตอนนี้ลูกต้องกินอิ่ม รอดปากเหยี่ยวปากกา
ลูกของแสง วิ่งวนอยู่กับพ่อไม่ห่าง เจ้าตัวเล็กพยายามใช้กระดาษทรายขัดไม้ฉำฉาที่ตักผง พร้อมกับส่งเสียงเรียก พ่อจ๋า ๆ เขาบอกว่าสอนให้เด็กพูดดี ๆ รักพี่รักน้อง คำพูดของเราสำคัญ ต้องพูดดี ทำดีให้ลูกเห็น เพราะลูก ๆ จะเอาตัวอย่างไปใช้กับพี่น้อง
แสงอยากให้ลูกเรียนหนังสือ เพราะเด็ก ๆ ชอบวาดรูป และเรียนหนังสือ โตขึ้นจะได้ไม่ลำบากเหมือนพ่อ ที่มีอาชีพเป็นคนทำที่ตักผง
พ่อจ๋า ๆ ดูนี่ เสียงใส ๆของหนูน้อย พร้อมกับแผ่นกระดาษที่เธอบรรจงวาด อวดเราเป็นภาพครอบครัวของเธอทั้ง 5 คน
นิยามวันครอบครัวของแต่ละครอบครัวอาจแตกต่างกัน แต่สำหรับแสง และลูก ๆ บนสามล้อพ่วงข้าง กลับเต็มไปด้วยนิยามแห่งความสุข