วันนี้ (16 เม.ย.2562) น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกครั้งสำคัญของประเทศอินโดนีเซีย ในวันพรุ่งนี้ (17 เม.ย.) ตามคำเชิญของสภาเสรีภาพและประชาธิปไตยแห่งเอเชีย พร้อมตัวแทนพรรคการเมืองหลายพรรคการเมืองในเอเชีย และได้เข้าเยี่ยมพรรคการเมืองที่ยึดมั่นบนหลักเสรีประชาธิปไตยอย่างพรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซีย-การต่อสู้ (PDIP) พรรคพรรคพีเคบี เพื่อพูดคุยถึงการเลือกตั้ง และความท้าทายที่แต่ละพรรคการเมืองต้องเผชิญในการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมทั้งพบองค์การนอกภาครัฐที่ส่งเสริมประชาธิปไตยถึงแนวทางการปฏิบัติงานของ และกลุ่มต่อต้าน Fake News
น.ส.ศิริภา ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ แตกต่างจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีทั่วๆไปของอินโดนีเซีย เนื่องจากมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ประธานาธิบดี และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ภายในวันเดียวกัน โดยประชาชน ที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งมากกว่า 193 ล้านคนจะต้องลงคะแนนเลือกตั้งบนบัตรลงคะแนนถึง 5 ใบในคราวเดียวกัน
โดยมีผู้ลงสมัครแข่งขันรับเลือกตั้งในตำแหน่งต่างๆมากถึง 245,000 คน เพื่อชิงเก้าอี้ ประธานาธิบดี สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 136 ที่นั่ง สมาชิกผู้แทนราษฎรจำนวน 575 ที่นั่ง สมาชิกสภาจังหวัด 2,207 ที่นั่งใน 34 จังหวัด และสมาชิกรัฐบาลท้องถิ่นอีกกว่า 27,610 ที่นั่ง
ขณะที่เมื่อ 15 ปีที่แล้วในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรก ของประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2547 อดีตนายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย ได้รับเกียรติจากองค์การ Carter Center ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐ มุ่งเน้นการส่งเสริมประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยอมรับการยอมรับจากนานาชาติ
ภายใต้การนำโดย นายจิมมี่ คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ให้เข้าร่วมเป็นผู้นำสังเกตการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกของประเทศอินโดนีเซียในครั้งนั้นด้วย เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงตามระบอบประชาธิปไตย และนายชวน หลีกภัย ถือเป็นนักการเมืองที่ได้รับการยกย่องเป็น Mr. Clean หรือนักการเมืองมือสะอาด
โค้งสุดท้ายปัญหาข่าวปลอมเลือกตั้งอินโดนีเซีย
ไทยพีบีเอส รายงานจากอินโดนีเซียว่า วันนี้ เจ้าหน้าที่ช่วยกันจัดหน่วยเลือกตั้งบริเวณสวนสาธารณะซูโรปาตี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจาการ์ตาชั้นใน เป็นสัญญาณว่าการเลือกตั้งทั่วไปนัดสำคัญของอินโดนีเซีย กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า
คู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในการเลือกตั้งครั้งนี้คือโจโค วีโดโด ผู้นำอินโดนีเซียคนปัจจุบัน กับ ปราโบโว ซูเบียนโต อดีตลูกเขยของพลเอกซูฮาร์โต ผู้นำเผด็จการที่ครองอำนาจมานานถึง 32 ปี
โจโควี และ ปราโบโว ต่างงัดหมัดเด็ดขึ้นมาโน้มน้าวใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 190 ล้านคน จาก 34 จังหวัดทั่วประเทศ ผ่านการประชันวิสัยทัศน์ทางโทรทัศน์ การจัดปราศรัยใหญ่และการใช้สื่อออนไลน์
บทบาทสำคัญของสื่อออนไลน์หนีไม่พ้นการเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารที่สะดวกสบายรวดเร็ว
แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข่าวปลอมเพื่อทำลายคู่แข่งทางการเมือง โดยเฉพาะในศึกเลือกตั้งครั้งนี้
ผศ.อรอนงค์ ทิพย์พิมล ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศอินโดนีเซีย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การใช้ข่าวปลอมเป็นเครื่องมือทำลายคู่แข่งทางการเมืองถือเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมอินโดนีเซีย แม้ว่าจะมีกฎหมายควบคุมก็ตาม
จริงๆมีกฎหมายควบคุมแต่เกิดขึ้นเร็วมาก เมื่อถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์กว่าจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ก็แพร่ไปนานแล้ว และทุกเมืองจะขึ้นป้าย Fake News เพราะถูกใช้เป็นเครื่องมือเยอะ
ขณะที่นินุส อันดานุสวารี ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า การเผยแพร่ข่าวปลอมทางสื่อออนไลน์เกิดขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้ง เมื่อปี 2557 โดยข่าวปลอมส่วนใหญ่ถูกเผยแพร่ผ่านทาง Whatsapp ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อออนไลน์ยอดนิยมของชาวอินโดนีเซีย
ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ Whatsapp ต้องจำกัดการส่งข้อความต่อไปยังผู้ใช้คนอื่นจาก 20 ครั้งต่อวันเหลือเพียง 5 ครั้งต่อวัน เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ความท้าทายของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียในครั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงการแข่งขัน เพื่อช่วงชิงคะแนนนิยมผ่านทางนโยบายเท่านั้น เนื่องจากข่าวปลอมถือเป็นอีกความท้าทายสำคัญที่ผู้สมัครต้องเตรียมความพร้อมรับมือ