วันนี้ (20 เม.ย.2562) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมานั้น สำนักงาน กสทช.อาศัยอํานาจตามความในข้อ 9(3) ของระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2555 แต่งตั้งคณะทํางานเพื่อดำเนินมาตรการตามคำสั่ง คสช.ดังกล่าวมีทั้งหมด 4 คณะ นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดวิธีการและเงื่อนไขการชดเชยสืบเนื่องจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล และการทดแทน ชดใช้ และจ่ายค่าตอบแทนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่อีก 1 ชุด โดยลงนามเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา
สำหรับคำสั่งเรื่อง แต่งตั้งคณะทํางานเพื่อดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม มีจำนวน 4 คณะ โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
1. คณะทำงานด้านการจัดทำหลักเกณฑ์และการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz
ให้รองเลขาธิการ กสทช.สายงานกิจการโทรคมนาคมเป็นหัวหน้าคณะทํางาน คณะผู้ทำงานมีทั้งหมด 12 คน ได้แก่ นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน, นายเสน่ห์ สายวงศ์, นางสุพินญา จําปี, น.ส.พูลศิริ นิลกิจศรานนท์, น.ส.จิตสถา ศรีประเสริฐสุข, นายจาตุรนต์ โชคสวัสดิ์, น.ส.อรวรี เจริญพร, นางธีตานันตร์ สีวะรา ส่วนผู้ทำงานและเลขานุการ ได้แก่ นายประถมพงศ์ ศรีนวล, นายณัฐวุฒิ อาจปรุ, น.ส.ปุณย์สิรี ฉัตรจินดา, นายพชร เชื้อรอต
อำนาจหน้าที่ของคณะทำงานชุดนี้ มี 3 ข้อ
1. จัดทําหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สําหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700 MHz ตลอดจนจัดทําเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700MHz และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว
2.ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz และประสานงานกับผู้ที่ประสงค์จะขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าว ตลอดจนแจ้งข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
3. ดำเนินการอื่นใดตามที่เลขาธิการ กสทช.มอบหมาย
2. คณะทำงานด้านหลักประกันและการชำระเงิน
ให้รองเลขาธิการ กสทช.สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร เป็นหัวหน้าคณะทํางาน คณะทำงานมีทั้งหมด 10 คน ได้แก่ นางสุพินญา จําปี, นายสมบัติ ลีลาพตะ, นางดวงเดือน เสวตสมบูรณ์, นายสมสกุล ชัยกาญจนาศักดิ์, นายพิชัย ร่วมภูมิสุข, นายชาญวุฒิ อำนวยสิน, นางปัญชลีย์ ชัยกาญจนาศักดิ์, นางจักรพงษ์ พื้นอินต๊ะศรี, นายฑัฬห์ณธร อยู่เกิด และ น.ส.ภารดี อนันท์ธนภาค
อำนาจหน้าที่ของคณะทำงานชุดนี้ มี 3 ข้อ
1.ตรวจสอบ พิจารณา และดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการคืนหลักประกันเดิม และ/หรือ การจัดทำหลักประกันใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม
2. ตรวจสอบและดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงินตามข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม
3.ดำเนินการอื่นใดตามที่เลขาธิการ กสทช.มอบหมาย
3.คณะทำงานด้านการสนับสนุนเงินเพื่อสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์และการใช้จ่ายเงินกองทุน
ให้รองเลขาธิการ กสทช.ยุทธศาสตร์และกิจการองค์กรเป็นหัวหน้าคณะทํางาน คณะทำงานมีทั้งหมด 7 คน ได้แก่ นางยุพา ทรัพย์ยิ่ง, นายนิพนธ์ จงวิชิต, นางรมิดา จรินทิพย์พิทักษ์, น.ส.ชนัณภัสร์ วานิกานุกูล, นายณัฏฐชาติ พวงสุดรัก, น.ส.ภัทรวดี ไชยยะ และนายอธิพัฒน์ บุราพันธ์
อำนาจหน้าที่ของคณะทำงานชุดนี้ มี 3 ข้อ
1.ศึกษาและพิจารณาจัดสรรเงิน ตลอดจนดำเนินการใดๆ เพื่อสนับสนุนให้มีการจัดตั้งองค์กรกลางเกี่ยวกับการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์ ตามข้อ 14 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม
2.ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามข้อ 15 วรรคสอง ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม
3.ดำเนินการอื่นใดตามที่เลขาธิการ กสทช.มอบหมาย
4.คณะทำงานด้านการสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะ
ให้รองเลขาธิการ กสทช.สายงานบริหารคลื่นความถี่และภูมิภาคเป็นหัวหน้าคณะทํางาน คณะทำงาน 11 คนประกอบด้วย นางสุวรรนีย์ เจียรานุชาติ, นายมาโนชญ์ จารุสมบัติ, นายวรพงษ์ นิภากรพันธ์, นางธีตานันตร์ สีวะรา, นายชาญวุฒิ อำนวยศิลป์, น.ส.ชนัณภัสร์ วานิกานุกูล, น.ส.ศรีศศิ ใช้ไหวพริบ, น.ส.อรนิตย์ เนติธรรมกุล, นายตะวันเศรษฐ์ เซ็นนันท์, นายยุทธนันท์ ศิริวัธนนุกูล และ น.ส.ภารวี เกตุสิริ
คณะทำงานชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ 2 ข้อ
1.ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับการดำเนินงานตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2562เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ทั้งด้านการดำเนินกิจกรรมและด้านการสื่อสารสู่สาธารณะ
2.ดำเนินการอื่นใดตามที่เลขาธิการ กสทช.มอบหมาย
สำหรับคณะอนุกรรมการกำหนดวิธีการและเงื่อนไขการชดเชยอันเนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล และการทดแทน ชดใช้ และจ่ายค่าตอบแทนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในคำสั่งมอบหมายเลขาธิการ กสทช.เป็นประธานอนุกรรมการ อนุกรรมการมี 11 คน ได้แก่ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ, ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา , ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด, ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ผู้แทนสำนักงบประมาณ, ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เป็นเลขานุการ พร้อมผู้ช่วยเลขานุการ ประกอบด้วยนายสมบัติ ลีลาพตะ, นายกีรติ อาภาพันธุ์, นางปริตา วงศ์ชุตินาท และ น.ส.มณีรัตน์ กำจรกิจการ
คณะอนุกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ใน 4 ข้อ
1.ศึกษาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับการกำหนดวิธีการและเงื่อนไขชดเชยอันเนื่องจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล และการทดแทน ชดใช้ และจ่ายค่าตอบแทนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2562เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม
2. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่คณะอนุกรรมการฯ มอบหมาย
3. เชิญบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำหรือความเห็นได้
4.ดำเนินการอื่นใดตามที่เลขาธิการ กสทช. มอบหมาย
นายฐากร กล่าวว่า คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ทำให้การประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
จ่อยื่นฟ้องศาลปม ม.44 - กสทช.เอื้อ 3 ค่ายมือถือยืดหนี้ 10 ปี
7 เรื่องที่ควรรู้ กับคำสั่ง คสช. อุ้มผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่