นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า วันที่ 22 เม.ย.นี้ จะปรับขึ้นค่าโดยสารตาม มติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางที่ได้ประกาศไว้ ทั้งรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รถโดยสารประจำทางที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (รถเมล์เอ็นจีวี) ของ ขสมก. รถร่วมบริการ ขสมก. ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ และรถโดยสารร่วมบริการของ บขส.
สำหรับค่าโดยสารที่จะปรับเพิ่มขึ้น 1-7 บาท ตามประเภทรถและระยะทาง โดยรถโดยสารธรรมดา ครีมแดง ของ ขสมก. ปรับราคาจาก 6.50 บาท เป็น 8 บาท รถโดยสารปรับอากาศครีมน้ำเงิน ปรับจาก 10-18 บาท ตามระยะทาง เป็น 12-20 บาท , รถปรับอากาศยูโรทู ปรับจาก 11-23 บาท ตามระยะทาง เป็น 13-25 บาท
ส่วนรถปรับอากาศใหม่ เอ็นจีวี ให้คิดราคาระยะทาง 4 กม.แรก ราคา 15 บาท ตั้งแต่ 4-16 กม. ราคา 20 บาท และตั้งแต่ 16 ก.ม. ขึ้นไปราคา 25 บาท กรณีใช้ทางด่วนให้ปรับเพิ่มมากกว่าค่าโดยสารปกติ 2 บาทต่อคนต่อเที่ยว
ส่วนรถบริการตลอดคืนให้กำหนดค่าธรรมเนียมบริการตลอดคืน เพิ่มขึ้น 1.50 บาทต่อคนต่อเที่ยว จากค่าโดยสารปกติ ส่วน รถ บขส.ปรับขึ้นไม่เกินร้อยละ 10 ของอัตราค่าโดยสารเดิม ขณะที่รถเมล์ร้อนที่เป็นรถใหม่ สามารถเก็บอัตราค่าโดยสารได้ในราคา 12 บาท
นายอาคม กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าโดยสารครั้งนี้ต้องการให้องค์กรจัดบริการรถมีฐานะการเงินดีขึ้น หลังประเมินว่าการบริการทำได้ดีขึ้นจึงจำเป็นต้องการให้ประชาชนสนับสนุนในบางส่วน
อ่านข่าว ภาระประชาชน ! ฟ้องศาลปกครองระงับขึ้นค่ารถเมล์ 1-7 บาท
รถร่วมฯ แบกภาระค่าใช่จ่ายไม่ไหว
นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่า ปัจจุบันรถร่วมได้เปลี่ยนไปใช้ก๊าซ NGV มาตั้งแต่ปี 2551 และไม่ใด้ใช้น้ำมันดีเซลขณะที่ผ่านมาก๊าซ NGV มีการปรับราคาขึ้นมาโดยตลอด แม้จะได้รับการอุดหนุน แต่เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2561 กระทรวงพลังงานได้ประกาศปรับขึ้นราคาก๊าซ NGV อีกกิโลกรัมละ 62 สตางค์ ประกอบกับค่าแรงที่มีการปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2556 ปรับเป็น 300 บาท ปี 2560 ปรับเพิ่ม 305-310 บาท และปี 2561 ปรับเพิ่มเป็น 330 บาท ส่งผลให้ค่าโดยสารปัจจุบันไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และผู้ประกอบการรถร่วมต้องแบกรับภาระมาโดยตลอด
ปัจจุบันผู้ประกอบการรถร่วมมีภาระวันละประมาณ 5,000 บาท แบ่งเป็นค่าแรงของพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารวันละ 1,200-1,300 บาท ค่าเชื้อเพลิงรถร้อนวันละ 1,200-1,500 บาท หากเป็นรถปรับอากาศวันละ 1,500-2,000 บาท และยังมีค่าซ่อมบำรุง ค่าจอดรถ ซึ่งการที่คณะกรรมการขนส่งทางบกกลางมีมติให้ปรับขึ้นค่าโดยสาร 1 บาทนั้น จะถูกนำมาช่วยค่าเชื้อเพลิงบางส่วนเท่านั้น
นางภัทรวดี กล่าวว่า ผู้ประกอบการพร้อมที่จะจัดหารถโดยสารใหม่นำมาให้บริการ เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีรถที่ดี บริการที่ดี ซึ่งปัจจุบันรถร่วมของสมาคมฯ มีประมาณ 1,500 คัน และผู้ประกอบการรถร่วมพร้อมจะเปลี่ยนเป็นรถใหม่ทั้งหมด โดยคาดว่าจะสามารถเปลี่ยนเป็นรถใหม่ได้ก่อนจำนวน 500 คัน ในเดือน พ.ค.นี้ แต่หากศาลปกครองมีมติคุ้มครองค่าโดยสารก็อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ
ไต่สวนขึ้นค่ารถเมล์ 22 เม.ย.
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ร่วมกันยื่นฟ้องคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ฐานกระทำการสั่งขึ้นค่ารถเมล์ทั้งระบบโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการสร้างภาระให้เกิดขึ้นกับประชาชนเกินสมควร ตาม ม.9(1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 นั้น
ศาลปกครองกลาง ได้รับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาไต่สวนแล้วและมีคำสั่งให้คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายมาศาลในวันจันทร์ที่ 22 เม.ย. เวลา 10.00 น. เพื่อไต่สวนคำขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวเพื่อทุเลาการบังคับคดีไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด พร้อมกับสั่งให้คณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางทำคำชี้แจงข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยกับพวกมายื่นในวันดังกล่าวด้วย เพื่อศาลจะได้พิจารณามีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดหรือตามคำขอของผู้ฟ้องคดีต่อไป
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า กรณีดังกล่าว ขสมก. รถร่วม ขสมก. รถตู้โดยสาร และรถ บขส. ทั้งหมดไม่ควรที่จะขึ้นค่าโดยสาร จนกว่าศาลจะมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดออกมา เพราะหากดื้อรั้นที่จะขึ้นค่าโดยสารโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชน สมาคมฯจะนำความไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพื่อเอาผิดผู้บริหารของ กรมการขนส่งทางบก ขสมก.และบขส.ต่อไปด้วย
และหากรถร่วมเอกชนทั้งหลายที่ออกมาโต้ตอบสมาคมฯว่าจำต้องขึ้นค่าโดยสารเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหวนั้น สมาคมฯขอเรียกร้องให้รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีสั่งให้เรียกคืนสัมปทานการเดินรถของเอกชนที่หมดอายุทั้งหมดมาดำเนินการเอง โดยเฉพาะรถร่วม ขสมก. เพื่อที่จะได้นำไปสู่การปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็วได้ เช่น การใช้ตั๋วร่วมใบเดียวใช้บริการรถสาธารณะได้ทั้งระบบ เป็นต้น