กรรณิกา แก้วสาคู เจ้าของร้านอาหารทะเล ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า เหตุผลที่ลูกค้าชื่นชอบอาหารทะเลจากทวาย เนื่องจากราคาถูกกว่าอาหารทะเลของไทยและมีขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นปู หรือ กุ้ง โดยในทุก 2 วัน สามีของเธอจะข้ามฝั่งไปรับซื้ออาหารสดจากเมืองทวายมาจำหน่าย แต่การขนสินค้าไม่ง่าย แม้จะอยู่ห่างจากทวายเพียง 160 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง เนื่องจากเส้นทางคมนาคมขนส่งที่เชื่อมจากบ้านทิกิ เมืองทวาย ยังเป็นลูกรัง
เธอบอกว่า หากเมียนมาสร้างถนนคอนกรีตจะลดเวลาการเดินทางเหลือเพียงชั่วโมงกว่า ขณะที่การเปิดใช้ด่านเต็มรูปแบบเชื่อว่าจะทำให้การค้าขายบริเวณแนวชายแดน รวมทั้งอาหารทะเลดีขึ้น ขณะนี้มีร้านจำหน่ายอาหารทะเลจากทวายเกิดขึ้นหลายร้าน
นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า จุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน เป็นด่านที่มีความสำคัญ ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.กาญจบุรี ที่จะเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว แม้ว่าปัจจุบันการค้าขายระหว่างกันยังไม่มากนักแต่ในอนาคตมีโอกาสเติบโตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารทะเล สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน กรมศุลกากร ระบุว่า คืบหน้าไปมาก คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปลายปีนี้
นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร ระบุว่า อาหารทะเลจากเมียนมารวมถึงประเทศอื่นไหลมาสู่ตลาดไทยมากขึ้นจากข้อตกลงการค้าเสรี ส่งผลให้ราคาอาหารทะเลของไทยราคาตกต่ำ เช่น หมึก โดยก่อนนี้ตัวแทนชาวผู้ประกอบการชาวประมงได้ไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อหามาตรการดูแลที่เหมาะสม แต่ไม่สามารถห้ามนำเข้าได้เพราะผิดข้อตกลงทั้งองค์การการค้าโลก หรือ WTO และเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) โดยเห็นว่าควรจะใช้ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 เช่น มาตรการด้านสุขอนามัย (SPS) และมาตรฐานคุณภาพสัตว์น้ำ ซึ่งสามารถใช้ดูแลคุณภาพสินค้าที่นำเข้าได้
สำหรับมูลค่าการค้าบริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน ปี 2560 มีมูลค่ารวม 292 ล้านบาท และปี 2561 มีมูลค่ารวม 320 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.42 สินค้าหลักที่นำเข้าจากเมียนมา คือ ก๊าซธรรมชาติ สัตว์น้ำ สินค้าส่งออก คือ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี