ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แพทย์เผยวัยรุ่น 15-24 ปี ป่วยโรคทางเพศสัมพันธ์มากสุด

สังคม
8 พ.ค. 62
16:59
25,305
Logo Thai PBS
แพทย์เผยวัยรุ่น 15-24 ปี ป่วยโรคทางเพศสัมพันธ์มากสุด
กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โรคซิฟิลิสอย่างใกล้ชิด หลังพบว่ามีแนวโน้มการเกิดโรคเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มวัยรุ่น วัยเรียน มีอัตราการป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมา

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคซิฟิลิสอย่างใกล้ชิด หลังพบสถานการณ์โรคซิฟิลิสมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นสัญญาณถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยและเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี

โดยในปี 2561 พบรายงานผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากที่สุดในช่วงอายุ 15-24 ปี คิดเป็นร้อยละ 36.9 ซึ่งอยู่ในกลุ่มวัยรุ่น วัยเรียนและวัยเจริญพันธุ์ และข้อมูลจากการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวีของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาปี 2560 พบว่าวัยรุ่นมีแนวโน้มการมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น โดยอายุเฉลี่ย 13-15 ปีและไม่ใช้ถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ประมาณร้อยละ 30

ส่วนข้อมูลพฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัย ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 ทั้งชายและหญิง ร้อยละ 76.9 และ 66.7 ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 ทั้งชายและหญิง ร้อยละ 74.1 และ 76.9 ระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพปีที่ 2 ทั้งชายและหญิง ร้อยละ 69.5 และ 74.6 จากข้อมูลทำให้เห็นว่าวัยรุ่นยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน ซึ่งจะทำให้วัยรุ่นติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอชไอวี และการท้องไม่พร้อม

โรคซิฟิลิส คืออะไร?

นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า โรคซิฟิลิส เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การรับเลือดจากผู้ที่ติดเชื้อ หรือจากแม่ที่ติดเชื้อซิฟิลิสแล้วไม่ได้รับการรักษาสู่ทารกในครรภ์ โดยหลังจากได้รับเชื้อในช่วงแรกอาจจะพบแผลที่อวัยวะเพศ หลังจากนั้นแผลจะหายได้เอง และจะมีผื่นตามร่างกาย ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือที่อวัยวะเพศ อาจมีผมร่วงเป็นหย่อมๆ

ผู้ติดเชื้อบางรายอาจจะไม่แสดงอาการ แต่เชื้อนั้นจะอยู่ในร่างกายถ้าไม่ได้รับการรักษา เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี เชื้อนี้สามารถก่อให้เกิดความผิดปรกติที่สมอง ระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มีอาการแสดง ผู้ป่วยจะทราบว่าติดเชื้อได้ต่อเมื่อมีการไปตรวจเลือด เช่น การตรวจเลือดเพื่อบริจาคเลือด หรือการตรวจคัดกรองในระยะฝากครรภ์ ซึ่งโรคนี้มียารักษาและสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ควรตรวจติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อดูระดับผลเลือด

สำหรับการป้องกันโรค กรมควบคุมโรคแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งและรับผิดชอบต่อคู่และสังคม ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หากมีความเสี่ยงมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ขอแนะนำให้เจาะเลือดเพื่อตรวจคัดกรองซิฟิลิสและเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพและลดโอกาสการแพร่เชื้อของโรค

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถขอรับถุงยางอนามัยได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ผ่านสถานบริการของรัฐและหน่วยงานสังกัดกรมควบคุมโรค หรือสอบถามข้อมูลการป้องกันการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ ได้ที่สายด่วนปรึกษาเอดส์ 1663 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง