วันนี้ (10 พ.ค.2562) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้ง 3 ราย แสดงความประสงค์ขอเข้าประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz สำหรับการให้บริการ 5G โดยบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ยื่นมาในวันที่ 7 พ.ค. ส่วนบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) ยื่นมาในวันที่ 10 พ.ค. และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ยื่นในวันที่ 10 พ.ค.เช่นกัน และทั้งหมดขอรับสิทธิยืดจ่ายค่าใบอนุญาต และแสดงความจำนงยื่นประมูลคลื่น 5G แต่ขอให้กสทช.พิจารณาราคาเริ่มต้นประมูลคลื่น 5G ให้มีความเหมาะด้วย หากสูงเกินไปอาจพิจารณาไม่เข้าร่วมประมูล
ส่วนการยื่นขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ล่าสุด เมื่อเวลา 14.50 น. มีผู้ยื่นขอคืนใบอนุญาตแล้ว 7 ช่อง โดยช่องสปริงนิวส์ และช่องสปริง26 (Now TV) ซึ่งเป็นเครือเดียวกัน ได้ยื่นหนังสือแจ้งยุติประกอบกิจการ ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (9 พ.ค.) ขณะที่ในวันนี้ ช่องที่ยื่นขอยุติประกอบกิจการ ได้แก่ ไบรท์ทีวี, วอยซ์ทีวี, MCOT แฟมิลี่ และสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 หรือ BEC ยื่นยุติกิจการ จำนวน 2 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3แฟมิลี่ และช่อง 3 สแตนดาร์ต หมายเลข 28 โดยช่อง 3 โดยให้เหตุผลว่า มีการแข่งขันสูงมากของทีวีดิจิทัล และเม็ดเงินโฆษณาในระบบลดลง
ขณะที่ขั้นตอนหลังจากนี้ ทั้ง 7 ช่อง จะต้องส่งแผนเยียวยาให้ กสทช.ภายใน 60 วัน และ กสทช.จะใช้ระยะเวลาอีก 30-45 วัน พิจารณาว่าจะให้ยุติกิจการหรือไม่ ถ้าไม่มีปัญหา ก็จะจอดำได้ทันทีหลัง กสทช.อนุมัติ ส่วนค่าชดเชยเฉลี่ยที่ กสทช.ต้องจ่ายให้ทีวีดิจิทัลที่ยุติกิจการ ช่องเด็ก 200 ล้านบาท ช่องข่าว 500 ล้านบาท และช่อง SD 800-900 ล้านบาท นอกจากนี้ ค่างวด 5 และงวด 6 เงินประมูล และค่าโครงข่ายมักซ์ทั้ง 22 ช่องที่ กสทช.จะจ่ายแทนให้อีกกว่า 9 ปี 5 เดือน รวมมูลค่าประมาณ 38,000 ล้านบาท
เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า การขอคืนใบอนุญาตจะกระทบต่อพนักงานบางส่วนที่อาจจะตกงาน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้มาตรา 44 เยียวผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล แสดงความเป็นห่วงว่าพนักงานจะตกงาน จึงขอให้ช่องทีวีดิจิทัลที่ขอคืนใบอนุญาตดูแลและเยียวยาพนักงานให้ดีกว่ากฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งให้ความเป็นธรรมแก่พนักงานด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
วอยซ์ทีวี คืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ลุยต่อดาวเทียม-ออนไลน์
3 ค่ายมือถือยื่น กสทช.ขอยืดเวลาจ่ายใบอนุญาต 4G