แหล่งข่าว 1 ในผู้รับเหมาที่ได้รับผลกระทบกว่า 20 ราย ที่จนถึงวันนี้นานกว่า 1 ปี ยังไม่ได้รับเงินค่าจ้างตามสัญญา ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบ เนื่องจากหลังส่งมอบงานแล้วเสร็จ "ผู้รับเหมารายย่อย" ยังไม่ได้รับเงินค่าจ้าง” จากบริษัทคู่สัญญาที่ประมูลและได้รับงานจากทางสำนักงานศาลยุติธรรม
จากการพูดคุยกันในกลุ่มเบื้องต้น พบว่า มีผู้ที่ยังไม่ได้รับเงินหลังทำงานแล้วเสร็จ จำนวนเงินตั้งแต่แต่ 10,000 - 10,000,000 บาท เกือบทั้งหมดเป็นผู้รับเหมารายย่อย ที่ทางบริษัทคู่สัญญาฯ เรียกให้มารับงานอีกทอดเพื่อช่วยให้ทำเสร็จตามกรอบเวลาที่ยืดออกมาให้เร็วที่สุด
แหล่งข่าวอ้างว่า ก่อนจะถึงวันที่ทางบริษัทคู่สัญญาฯ จะได้รับเงินงวดสุดท้าย จำนวน 150 ล้านบาท จากทางสำนักงานศาลฯ มีผู้จัดการบริษัทคู่สัญญาคนหนึ่ง ได้แจ้งรายละเอียดค้างจ่ายทั้งหมดทุกราย ให้กับทางบริษัท และแจ้งกับผู้รับเหมา ด้วยความเห็นใจหากต้องการได้เงินควรจะไปรอรับเงิน และแสดงตัว ในวันที่บริษัทคู่สัญญาฯ มารับเช็คงวดสุดท้าย เพื่อแสดงตัวให้กับทางศาลฯได้เห็นด้วยว่า “บริษัทฯ ยังไม่ได้จ่ายเงินให้กับผู้รับเหมารายย่อย” และกดดันให้มีการจ่ายเงินทันที
ในวันนั้นพวกเขาจึงมารอหน้าสำนักงานศาลฯแห่งนั้น พร้อมกับรอเข้าพบกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งอยู่นาน จนในที่สุดก็อนุญาตให้เข้าพบ และพูดคุยซึ่งหน้ากับตัวแทนบริษัทคู่สัญญา โดยที่ผู้ใหญ่ท่านนั้นเป็นคนกลาง แต่ในการพูดคุย ทางผู้ใหญ่ขอให้บริษัทฯทำตามสัญญาซึ่งบริษัทฯได้รับปาก โดยแจ้งให้ผู้รับเหมาไปเปิดบัญชีธนาคารเอกชนจากนั้นจะโอนเงินไปให้
ทั้งนี้ เวลาผ่านไปหลายเดือน แม้จะมีการทวงถามและติดตามอยู่หลายครั้ง แต่ก็ได้รับคำตอบว่า “ธนาคารยังไม่ให้เบิกเงินจำนวนดังกล่าวออกมา จึงไม่สามารถนำมาจ่ายให้ได้ ซึ่งผู้รับเหมารายย่ยอยมองว่า เป็นเพียงข้ออ้าง ในการยื้อเวลา ทั้งที่หลายคนกู้หนี้ยืมสิน จำนองบ้าน ขายรถ มาลงทุนรับงาน
แหล่งข่าวยังอ้างอีกว่า นอกจากพวกเขาซึ่งเป็นผู้รับเหมารายย่อยแล้ว ยังมีบริษัทและร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างอีกหลายราย ที่ได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน บางรายเจ้าของร้านตัดสินใจเข้าทวงถามถึงบริษัทฯ ก่อนจะได้รับเงินจำนวนหนึ่งประมาณร้อยละ 10 พร้อมกับแจ้งว่าจะมีการโอนเงินส่วนที่เหลือให้ ภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้
เบื้องต้นในวันที่ 21 พ.ค.นี้ กลุ่มผู้รับเหมาทั้งหมด จะเดินทางไปรับหนังสือร้องเรียนจากศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่คืน หลังจากไม่มีความคืบหน้า และเจ้าหน้าที่แนะนำให้ไปฟ้องกับศาลอาญา หลายคนบอกว่า เรื่องนี้จะจบได้โดยง่าย หากบริษัทคู่สัญญาฯ โอนเงินค่าจ้างทั้งหมดมาให้ แต่เกือบทั้งหมด พวกเขารู้สึกผิดหวัง ถอดใจ และไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นได้
ขณะที่ความคืบหน้า ในการย้ายที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักอาศัย ไปที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย หลังที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม มีมติเห็นชอบให้ ทำความตกลงขอใช้ที่ดินจากกรมวิชาการเกษตร และดำเนินการของบประมาณจากรัฐบาลมาจัดสร้างที่ทำการใหม่พร้อมที่พักอาศัยของข้าราชการตุลาการ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แห่งใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทกับประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่มีบุคคลใดสามารถตอบได้ว่า จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เกิดขึ้นเมื่อใด และสิ่งปลูกสร้างเหนือแนวเขตป่าดั้งเดิมขึ้นไป บริเวณเชิงดอยสุเทพจังหวัดเชียงใหม่ ท้ายที่สุดจะถูกรื้อ และมีการฟื้นฟูให้กลับมาเป็นเป็นป่าสมบูรณ์ได้อย่างไร