ความชัดเจนที่ได้จาก 2 พรรคใหญ่ ที่เป็นตัวแปรสำคัญ คือ "ความไม่ชัดเจน" ซึ่งชวนวิเคราะห์ว่าท่าทีของ ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย เป็นการส่งสัญญาณให้กับการเมืองไทยอย่างไร เพราะทั้งคู่รู้ดีว่าเสียงรวม 2 พรรค 103 เสียง สามารถสร้างเสถียรภาพของรัฐบาลในอนาคตได้
ท่าทีประชาธิปัตย์ นำโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคคนใหม่ ระบุว่า ยังไม่มีการประชุม ส.ส.-กรรมการบริหารพรรค เพื่อกำหนดท่าที และยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล แม้จะมีการเลือกประธานสภาฯ วันที่ 25 พ.ค.นี้
วันที่ 25 พ.ค. จะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร วันดังกล่าวจะยังไม่มีความชัดเจนในการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลของพรรค
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แม้ลูกพรรคมีมติให้เป็นอำนาจสิทธิขาดของนายอนุทิน ไปหารือร่วมกับพรรคการเมืองอื่นที่ยัง "ไม่ตัดสินใจ" ว่าจะเลือกฝ่ายใด ก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจน "คนอื่นเขารอถึงวันที่ 23-24 พ.ค. ทำไม(ภูมิใจไทย)ต้องมาเร่ง"
ปฏิกิริยาจาก 2 พรรค ทำให้มีเพียงพรรคเดียวที่ยังมั่นใจว่าจะฟอร์มรัฐบาลเสร็จก่อนเลือกประธานสภาฯ คือพรรคพลังประชารัฐ ที่นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรค เชื่อว่า “ปิดจ๊อบ” ตั้งรัฐบาลได้ก่อนการเลือกประธานสภาฯ วันที่ 25 พ.ค.นี้ (วันที่ 20 พ.ค.2562)
ความเห็นส่วนหนึ่งจาก "ผู้ใหญ่" ของประชาธิปัตย์ สะท้อนภาพการเมืองได้เป็นอย่างดี ดังรายงานข่าวที่ระบุว่า มีการวิจารณ์ท่าที พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศจอง 4 กระทรวงหลัก เพราะหลังอำนาจและติดนิสัยทหารพูดลักษณะ “ทุ๊บโต๊” แทนที่จะปล่อยให้ฝ่ายการเมืองเจรจากันเอง
ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยมีการคุยนอกรอบ จับมือเดินไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเสียง 103 เสียง สร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาลได้
ดังนั้นสาเหตุที่ทั้ง 2 พรรค ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ยังไม่มีการประชุมเพื่อลงมติพรรคเลือกข้างใด จึงเป็นการ “ยื้อ” เพื่อรอดูท่าทีว่าจะมีการทบทวน “กระทรวงเกรดเอ” ที่พรรคขนาดกลางต้องการหรือไม่
แปลงสัญญาณการเมืองเป็นภาษาชาวบ้าน คือทั้ง 2 พรรค กำลัง “ดึงเช็ง” หรือ “ยื้อเวลา” เพื่อกดดันพลังประชารัฐ พรรคแกนนำผู้กอดกระทรวงหลัก “เกรดเอ” ไว้ในอาณัติ
สัญญาณนี้ไม่ได้ส่งไปยังแกนนำ พปชร. เท่านั้น แต่ส่งสัญญาณไปยัง “ผู้จัดการัฐบาลตัวจริง" ที่จัดสรรโควตารัฐมนตรี
เบื้องต้นภาพที่ประชาชนจะได้เห็นจากนี้ คือ การเลือกประธานสภาฯ เสมือนเป็นการหยั่งเสียงขั้นต้น ว่าพรรคการเมืองทั้งขั้วพลังประชารัฐและขั้วเพื่อไทย มีเสียงสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน หรือจะเป็นขั้วประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ที่จะมีบทบาทหลักในสภาฯ ดังนั้นการวัดกำลังในการเลือก “ประธานสภาฯ” จะเป็นจังหวะที่พอจะประเมินการตั้งรัฐบาลได้
แคนดิเดตประธานสภาฯ ของขั้วพลังประชารัฐ ยังเป็น นายสุชาติ ตัณเจริญ และนายวิรัช รัตนเศรษฐ ขณะที่ขั้วเพื่อไทย ช่วงแรกมีชื่อนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ เป็นแคนดิเดต แต่ขณะนี้มีความเป็นไปได้ที่เพื่อไทยจะทุ่มเสียงช่วยคนจากประชาธิปัตย์อย่าง นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นประธานสภาฯ ยอมแลกทั้งตำแหน่งนายกฯ-ประธานสภาฯ เพื่อต่อต้านการสืบทอดอำจ
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง พลังประชารัฐย่อมมีความร้อน-หนาว ในการะบวนการจัดตั้งรัฐบาลไม่ใช่น้อย
วันที่ 25 พ.ค. จะได้เห็นการประลองกำลังขั้นต้น จากนั้นจะเป็นการฟอร์มรัฐบาลเข้มข้น
เก้าอี้รัฐมนตรีที่ขั้วพลังประชารัฐกอดไว้ อาจต้องยอมปล่อยให้ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนา ไม่เช่นนั้นเห็นทีจะได้เห็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย
ถึงเวลานี้ พลังประชารัฐ รวมพลังประชาชาติไทย และพรรคจิ๋ว 11 พรรค แม้มีเสียงรวมเกิน 125 เสียง เพียงพอที่จะร่วมมือกับ 250 ส.ว. ผลักดัน พล.อ.ประยทธ์ ขึ้นสู้เก้าอี้นายกฯ สำเร็จ แต่การบริหารงานรัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
ความเคี่ยวทางการเมืองของ ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย จึงเป็นเกมลองใจขั้วพลังประชารัฐ และ "ผู้จัดการรัฐบาลตัวจริง" ในขั้วนี้ว่าจะตัดสินใจอย่างไร และกล้าปล่อยเก้าอี้รัฐมนตรีแลกกับการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่