วันนี้ (27 พ.ค.2562) ความคืบหน้ากรณีเหตุเพลิงไหม้ตู้คอนเทนเนอร์บริเวณท่าเรือ A2 ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของสำนักจัดกากของเสียและสารอันตราย ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลตะวันออก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ติดตามผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล ตรวจวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้นและเก็บตัวอย่างน้ำทะเล จำนวน 2 จุด
จุดแรก บริเวณหัวเรือยังไม่พบการปนเปื้อนของน้ำสารเคมีที่มาจากการดับไฟไหม้ตู้คอนเทนเนอร์ โดยทุก ทุกพารามิเตอร์ได้ตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลประเภทที่ 5 คือเพื่อการอุตสาหกรรม และท่าเรือ
ส่วนจุดที่ 2 บริเวณท้ายเรือ มีเพียงค่าค่าออกซิเจนในน้ำ (DO) ที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน น้ำทะเลประเภทที่ 5 กำหนดไม่น้อยกว่า 4.0 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างนำทะเลทั้ง 2 จุด ส่งให้ห้องปฏิบัติการกรมควบคุมมลพิษทำการวิเคราะห์สารโลหะหนัก คาดว่าอีก 1 สัปดาห์จะทราบผล
ภาพ :กรมควบคุมมลพิษ
คุณภาพอากาศเริ่มคลี่คลาย
ขณะที่การตรวจสอบเมื่อเวลา 12.45 น.กรมควบคุมโรค ตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณท่าเรือติดกับจุดเกิดเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งขณะตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้ได้สงบลงแล้ว ตรวจพบสารฟอร์มาลดีไฮด์ ปริมาณเล็กน้อย มีค่าอยู่ในช่วง 0.01-0.05 พีพีเอ็ม จากมาตรฐานค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลันระดับ 1 กำหนดไม่เกิน 0.9 พีพีเอ็ม ส่วนสารสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย และก๊าซคลอรีน Cl2 ตรวจไม่พบ
ด้านนายสุเมธา วิเชียรเพชร ผู้อำนวยการสำนักจัดกากของเสียและสารอันตราย คพ.ระบุว่า ในภาพรวมคุณภาพน้ำทะเล และคุณภาพอากาศ กลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว หลังจากเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ในพื้นที่รัศมี 1 กิโลเมตรจากท่าเรือแหลมฉบัง มีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากกลิ่นและควันไฟจากการไหม้ของผงแคลเซียมไฮโปรคลอไรต์ ที่บรรจุในคอนเทนเนอร์ และสารคลอริเนเตท พาราฟิน แวกซ์ แบบของเหลว
ส่วนเก็บคุณภาพน้ำทะเล ยังต้องรอผลตรวจสารโลหะหนัก เนื่องจากมีรายงานว่ามีอยู่ในตู้คอนเนอร์ในบริเณใกล้เคียง ซึ่งจะมีการเปิดตู้ที่เหลืออยู่ว่าสารเคมีกลุ่มยาฆ่าแมลงหรือไม่ ซึ่งหากมีและได้รับผลกระทบไปด้วยก็อาจจะเจอสารโลหะหนักได้ รวมทั้งผงแคลเซียมไฮโปรคลอไรต์ที่หลงเหลือในตู้คอนเทนเนอร์ หลังจากไฟไหม้ต้องนำไปจัดการอย่างถูกวิธี
กกท.ระบุเรือไม่แจ้งประเภทสินค้าวัตถุอันตราย
เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า ขณะนี้กองพิสูจน์หลักฐานเก็บตัวอย่างน้ำปนเปื้อนสารเคมีบริเวณพื้นที่หน้าท่า และได้ให้บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ หรือ JWD ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกำจัดสินค้าอันตรายและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าที่มีสารอันตรายออกจากพื้นที่
จากการตรวจสอบพบปัญหา ตู้สินค้าดังกล่าวไม่มีการแจ้งประเภทสินค้าว่าเป็นวัตถุอันตรายทำให้ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจะต้องเรียกสายเรือ และเจ้าของสินค้า มาพูดคุยเพื่อให้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะมีหน้าที่ต้องรายงานว่าสินค้าที่ขนมาเป็นสินค้าอันตราย
ขณะที่นายยรรยง ตั้งจิตต์กุล นายกสมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ท่าเรือที่เกิดเพลิงไหม้ มีการใช้งานไม่หนาแน่น ผลกระทบเบื้องต้น จึงมีไม่มากแต่การที่ยังเคลื่อนย้ายเรือลำเกิดเหตุออกจากท่าได้จนกว่าจะเก็บหลักฐานทั้งหมด จะกระทบไปถึงลำดับเทียบท่าของเรือในจุดอื่นที่ต้องจัดระบบกันใหม่
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ระบุว่า ผู้ส่งออกอยู่ระหว่างติดตามว่าสินค้าของตัวเองต้องเทียบท่าในจุดดังกล่าวหรือไม่ และเปลี่ยนแปลงอย่างไร เบื้องต้นสายเรือประ กาศขยายเวลาการขนย้ายสินค้าออกจากท่าเรือพร้อมมีหนังสือรับรอง เพื่อให้ไม่ต้องเสียค่าปรับ และให้แจ้งไปยังคู่ค้าต่างประเทศว่าการขนส่งอาจล่าช้า โดยหากมีความเสียหายเจ้าของสินค้าเรียกร้องได้จากบริษัทประกันที่ทำไว้ หรือสายเรือได้
ส่วนการดำเนินการขณะเกิดเหตุของเจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญของความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ทำให้การทำงานช้า เพราะต้องทราบเบื้องต้นก่อนว่ามีสารเคมีอันตรายรุนแรงหรือไม่
ขณะที่นางสุนีย์ ภูติวณิชย์ นายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งแหลมฉบังชลบุรี กล่าว่า แต่ก็ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ว่าจะเป็นมูลค่าเท่าไร ซึ่งขณะนี้ได้เปิดรับเรื่องร้องเรียนผลกระทบจากสมาชิกแล้ว แต่ต้องการให้รัฐการแก้ไขรวดเร็วและสื่อสารข้อมูลที่ชัดเจนกับผู้ประกอบการด้วย
ภาพ :กรมควบคุมมลพิษ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สอบที่มา “สารเคมี” ซุก 13 ตู้คอนเทนเนอร์ท่าเรือแหลมฉบัง