กสทช.ปล่อยเงิน 14,300 ล้านบาท ให้คลังยืม 3 ปี ไม่มีดอกเบี้ย ทำโครงการน้ำ-ขนส่ง
วันนี้ (17 มิ.ย.2558) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงาน กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.มีมติ 9 ต่อ 1 เสียง เห็นชอบให้กระทรวงการคลังยืมเงิน 14,300 ล้านบาท จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พ.ค. 58 เพื่อนำไปใช้แทนเงินกู้บางส่วนสำหรับโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน
โดยสำนักงานงบประมาณ กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างทำแผนงานเพื่อกำหนดว่าช่วงเวลาและวิธีการการส่งคืนงบประมาณที่ยืมไปคืนให้คณะกรรมการบริหาร กทปส.เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้จ่ายงบประมาณของกสทช. สำหรับการอนุมัติจะสอดคล้องตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 80/2557 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการองค์กรการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ข้อ 6 ส่งเสริมและสนับสนุน ด้านงบประมาณให้กระทรวงการคลังสามารถยืมเงิน กองทุน กทปส. เพื่อนำไปใช้ในกิจการของรัฐอันเป็นประโยชน์สาธารณะ
สำหรับการให้ยืมครั้งนี้ไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งกองทุน กทปส. มีงบประมาณกว่า 19,000 ล้านบาท การให้กระทรวงการคลังยืมไปครั้งนี้ทางสำนักงบประมาณจะต้องทำแผนการคืนเงินมาให้ กสทช.ซึ่งขณะนี้ทาง คสช.ได้ระงับการใช้งบประมาณของกองทุน กทปส.ไว้ทุกโครงการทำให้เงินในกองทุนที่มีอยู่ไม่ได้ถูกนำไปใช้
นายฐากรระบุอีกว่าเหตุผลที่ให้กระทรวงการคลังยืม เนื่องจากมีเงินค้างอยู่ในบัญชีกองทุน กทปส. มานานหากไม่นำไปลงทุนก็จะไม่ก่อให้เกิดสร้างงานหรือเศรษฐกิจของประเทศ กรรมการบริหารกองทุนฯได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์จึงอนุมัติ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องส่งคืนเงินกลับมาในระยะเวลาที่กำหนด ทาง กสทช.จึงเห็นว่าไม่มีความเสี่ยงใดๆในระยะเวลา 3 ปีนี้ เช่น ในปี 2558 หากมีการเบิกจ่ายเงินตามงวดงานที่เกิดขึ้นในโครงการใดๆ เมื่อมีการลงนามสัญญาแล้วก็ต้องจ่ายเงินในปี 2559 หรือ ปี 2560
"ส่วนกรณีที่ไม่ได้คิดอัตราดอกเบี้ยนั้น มองว่าไม่ได้มีการนำไปแบ่งปันผลเหมือนกองทุนหน่วยงานอื่นๆ แต่เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าจะได้เงินคืน ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจะเป็นผู้ทำสัญญากับ กสทช." นายฐากร ระบุ
ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นเสียงเดียวที่ไม่เห็นด้วยต่อมตินี้ ระบุว่าแม้จะเป็นความจำนงจากกระทรวงการคลัง แต่ก็ยังต้องมีกระบวนการข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เพราะเป็นการชั่งน้ำหนักระหว่างการพัฒนาระบบน้ำขนส่งกับการพัฒนาด้านโทรคมนาคมขั้นพื้นฐานว่าอะไรคือภารกิจสำคัญของ กสทช.ในการนำเงินตรงนี้ไปใช้หรือว่ารัฐบาลควรนำไปใช้มากกว่ากัน "ถ้าเทียบกับการใช้เงินกองทุนเพื่อพัฒนาในเรื่องอื่นๆ ควรจะมีรายละเอียดของโครงการต่างๆเข้ามา หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจมากกว่า เพราะน่าจะส่งผลกระทบต่อการใช้เงินสาธารณะ" น.ส.สุภิญญา กล่าว
ต่อมา น.ส.สุภิญญาได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ @Supinya วิจารณ์มติดังกล่าวโดยระบุว่า
"มติบอร์ดใหญ่เรื่องเห็นชอบให้คลังขอกู้เงินกองทุนวิจัยและพัฒนาฯกสทช.(กทปส.) ไปพัฒนาระบบน้ำและขนส่งวันนี้เสียงไม่แตกมาก แต่ไม่เอกฉันท์ 9:1 กลับบ้านมาพักใจ เป็น 1 เสียงโดดเดี่ยว สวนกระแสสังคม แต่พิจารณาเห็นชอบให้ไม่ได้จริงๆ ค่ะ ด้วยเหตุผลคือขัดเจตนารมณ์กองทุน กสทช.และธรรมาภิบาลใช้งบ ขนาดงบประมาณ กสทช.เอง 3-4 พันล้าน ไม่มีรายละเอียดการใช้งบชัดเจน ดิฉันยังไม่โหวตให้ผ่านเลย แต่นี่งบ 14,000 ล้านบาท ไม่มีเอกสารโครงการสักหน้า ยอมรับว่าแม้จะทำใจได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ดิฉันไม่เข้าใจระบบการทำงานของราชการไทยจริงๆ บางเรื่องมันก็ดูง่ายเสียจนไม่มีหลักยึดอะไรเลย ดิฉันถาม สนง. กสทช.ว่ารายละเอียดโครงการน้ำและขนส่งเป็นอย่างไรบ้าง สนง.บอกเราไม่จำเป็นต้องสนใจ เพราะ ครม.เขาเห็นชอบมาแล้ว ... จริงหรือ?
"ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้สะท้อนภาพการทำงานของระบบราชการในประเทศนี้ คงไม่ใช่เป็นปัญหาของ กสทช.ที่เดียว แต่เป็นธรรมภิบาลของระบบที่เบาหวิว เงินกองทุนวิจัยและพัฒนาฯเป็นเงินแยกออกมาอีกก้อนที่ภาคเอกชนต้องจ่ายเพิ่มเพื่อกลับมาพัฒนาวงการสื่อสาร แยกจากเงินประมูลคลื่นที่เข้าคลังไปแล้ว ผู้รับใบอนุญาตฯ ต้องจ่ายเงินให้รัฐ3ก้อน 1.เงินค่าประมูลคลื่นเข้าคลัง 2.เงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเข้า สนง.กสทช. 3.เงินกองทุนเพื่อพัฒนาสื่อสาร เงินที่คลังมาขอกู้ กสทช. คือเงินก้อนที่ 3 ภายใต้ชื่อว่า กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม (กทปส.) เงินกองทุนวิจัยและพัฒนาสื่อสาร กสทช. หรือ กทปส.ก้อนที่คลังขอกู้ มาจากเงิน USO ที่จะใช้สนับสนุนโครงสร้างบรอดแบนด์ให้คนชนบทเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เงินกองทุน กสทช.ที่ควรต้องใช้ส่งเสริมให้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารบนถนนสารสนเทศในยุคดิจิทัล กลายมาเป็นส่งเสริมการเข้าถึง 'ถนน'
"จริงๆ ถ้าจะส่งเสริมการเข้าถึงถนนเพิ่มขึ้น ไปเก็บค่าธรรมเนียมจากคนที่ใช้รถยนต์มากจะตรงกว่ามาเก็บค่าธรรมเนียมที่จ่ายมาจากคนใช้มือถือหรือไม่? พรบ.กสทช.เขามีที่มาที่ไป ว่าทำไมเขาถึงต้องเก็บเงินจากคนทำทีวีและบริษัทมือถือเพิ่มอีกก้อนมาเข้ากองทุน USO ไม่ใช่ว่่าจะมาใช้ทำอะไรก็ได้ ถ้าจะกู้เงินไปพัฒนาระบบขนส่ง สมัยเมื่อดิฉันยังเป็นนักศึกษาออกค่ายพัฒนาชนบท จะพอเข้าใจได้ แต่ยุคนี้ กองทุน กสทช.ควรไปพัฒนาถนนสู่สารสนเทศแล้ว"