วานนี้ (9 มิ.ย.2562) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มอบหมายให้ สทนช.ประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ และปรับปรุงข้อมูลแผน ผลการดำเนินงาน พร้อมทั้งรายละเอียดแผนการดำเนินงานในแต่ละปี เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการปรับปรุงอาคาร หรือสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่เดิมโดยมีเป้าหมายเพื่อให้การระบายน้ำในช่วงฤดูฝนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ล่าสุด พบว่าการจัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำทั่วประเทศ เช่น โครงสร้างสิ่งก่อสร้าง ถนน สะพาน ที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการทั้งสิ้น 11 หน่วยงาน อาทิ กรมทางหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน รวม 562 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 161 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 60 แห่ง ภาคกลาง 115 แห่ง ภาคตะวันออก 115 แห่ง ซึ่งปัจจุบันทั้ง 451 แห่ง ยังไม่มีการดำเนินการปรับปรุง
ภาพ: สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
เนื่องจากหลายหน่วยงานยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบพิกัดจุดที่ตั้ง และข้อมูลบัญชีรายการของอาคาร จึงเห็นควรพิจารณาตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูล เพื่อให้ถูกต้อง สมบูรณ์ และจัดทำแผนปฏิบัติการในแต่ละปีต่อไป ขณะที่การปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำในเขตภาคใต้ จำนวน 111 แห่ง ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 74 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 26 แห่ง โดยใช้งบประมาณเหลือจ่ายปี 2561 ที่เหลือจำนวน 11 รายการ อยู่ในแผนการดำเนินงานปี 2562 และ 2563 ของหน่วยงาน
สทนช.ให้ทุกหน่วยงานเร่งสำรวจ ตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูล รายละเอียดแผนงานกลับมาภายใน 15 มิ.ย.นี้ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำ พิจารณาตรวจสอบความจำเป็นและเหมาะสม ก่อนรายงานเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.)
เร่งกำจัดผักตบชวาตกค้างในแม่น้ำสายหลัก
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า นอกจากสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เป็นอาคารสิ่งก่อสร้างแล้ว สทนช.ยังได้ติดตามความก้าวหน้าการจัดการแก้ไขปัญหาผักตบชวา ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการไหลของน้ำลดลง โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง หน่วยงานรับผิดชอบหลักได้ดำเนินการสำรวจปริมาณผักตบชวาในแหล่งน้ำทั่วประเทศที่ต้องดำเนินการจัดเก็บและดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำจัดผักตบชวามาอย่างต่อเนื่อง
โดยในช่วงฤดูฝนนี้ 3 หน่วยงานหลักกำหนดพื้นที่ความรับผิดชอบในแม่น้ำสายหลักอย่างชัดเจน ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง รับผิดชอบแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีนตั้งแต่ประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา ลงมาถึงอ่าวไทย กรมเจ้าท่า แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ส่วนกรมชลประทาน แม่น้ำบางประกง แม่น้ำน้อย แม่น้ำท่าจีนตั้งเหนือประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา และพื้นที่คลองชลประทาน กรุงเทพมหานคร แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ภาพ: สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
ส่วนแหล่งน้ำปิดทั่วประเทศ กรมการปกครอง จะเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่โดยเน้นมาตรการเสริมสร้าง และเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผักตบชวาอย่างยั่งยืน ล่าสุดแก้ไขปัญหาผักตบชวาแล้ว 2,834,642 ตัน
แบ่งเป็น การดำเนินการโดยจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง และทหารในพื้นที่ 296,631 ตัน กรมโยธาธิการฯ 663,598 ตัน กรมชลประทาน 1,647,191 ตัน กรมเจ้าท่า 227,222 ตัน
ภาพ: สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ