ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิกฤตโลกร้อน! วันเดียวน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลาย "2 พันล้านตัน"

ต่างประเทศ
15 มิ.ย. 62
19:15
55,064
Logo Thai PBS
วิกฤตโลกร้อน! วันเดียวน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลาย "2 พันล้านตัน"
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายวันเดียวถึง 2 พันล้านตัน นักวิจัยไทย ชี้ มีโอกาสเป็นไปได้ เนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิบริเวณขั้วโลกเหนือสูงขึ้น

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา กว่าร้อยละ 40 ของประเทศกรีนแลนด์ได้ประสบกับภาวะการละลายของน้ำแข็ง โดยพบแผ่นน้ำแข็งละลายโดยเฉลี่ยมากกว่า 2 กิกะตัน หรือ 2 พันล้านตัน (หนึ่งกิกะตันเท่ากับ 1 พันล้านตัน)

สำหรับกรีนแลนด์นั้นเป็นเกาะใหญ่ทางขั้วโลกเหนือที่เต็มไปด้วยน้ำแข็งปกคลุมมากมาย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติอย่างมาก ที่น้ำแข็งจำนวนมากละลายในช่วงกลางเดือนมิ.ย.ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วการละลายของแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์จะอยู่ที่เดือน มิ.ย.-ส.ค.โดยน้ำแข็งจะละลายมากที่สุดในเดือน ก.ค.

 


ขณะที่ ทวิตเตอร์ Greenland ซึ่งเป็นทวิตเตอร์รายงานสถานการณ์ละลายของน้ำแข็งในกรีนแลนด์ใกล้เคียงเวลาเรียลไทม์ ได้ทวีตข้อความระบุว่า เมื่อวาน (วันที่ 13 มิ.ย.) ได้ลองคำนวณแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ที่หายไป พบว่า มีมากกว่า 2 Gt (2 km³) หรือ 2 พันล้านตัน ที่ละลายเป็นวงกว้าง นับเป็นภาวะการละลายของน้ำแข็งในปริมาณสูงผิดปกติในช่วงต้นฤดูกาลละลาย และไม่เคยปรากฏมาก่อน

วิกฤตโลกร้อน ต้นเหตุน้ำแข็งละลาย 

ล่าสุด วันนี้ (15 มิ.ย.2562) ไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถามข้อมูลไปยัง รศ.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำกลุ่มวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนักวิจัยไทยผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบภาวะโลกร้อน โดยรศ.สุชนา ระบุว่า การละลายของแผ่นน้ำแข็ง 2 พันล้านตันในวันเดียว มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการลงพื้นที่สำรวจของนักวิจัยไทยพบว่า บริเวณขั้วโลกเหนือมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น ขณะที่อุณหภูมิน้ำทะเลขั้วโลกเหนืออุ่นขึ้น 5 องศาเซลเซียส 

(อ่านเพิ่มเติม : นักวิจัยไทย พบน้ำทะเล "ขั้วโลกเหนือ" อุ่นขึ้น 5 องศาฯ)

สำหรับสาเหตุที่ทำให้แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายนั้น เกิดจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุเดียวกันกับอุณหภูมิขั้วโลกเหนือสูงขึ้น ทำให้ในช่วงซัมเมอร์ของขั้วโลกเหนือ เดือน มิ.ย.-ส.ค. มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ แผ่นน้ำแข็งจึงละลายมากกว่าปกติ แต่ก็อาจมีปัจจัยอื่นที่ทำให้น้ำแข็งละลายได้ถึง 2 พันล้านตัน อย่างการละลายของน้ำแข็งสร้างรอยร้าวบนแผ่นน้ำแข็งเป็นวงกว้างทำให้เมื่อแผ่นน้ำแข็งหลุดออก ปริมาณการละลายก็เพิ่มขึ้นได้

ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นผลโดยตรงจากสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือภาวะโลกร้อน ทำให้วันนี้เราต้องคิดที่จะทำอะไรสักอย่าง เพราะสิ่งที่เราทำทุกวันนี้ คือ การเร่งปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นในอีก 100 ปี ข้างหน้าให้ใกล้เข้ามา

ทั้งนี้ แม้การละลายของแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์จะอยู่ไกลถึงขั้วโลกเหนือ แต่  รศ.สุชนา ระบุว่า ประเทศไทยก็อาจได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เนื่องจากแต่ละปีที่ผ่านมา น้ำทะเลเริ่มสูงขึ้นเฉลี่ย ปีละ 2-3 มิลลิเมตร โดยมหาสมุทรทั่วโลกนั้นเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงทำให้ประเทศไทยเองก็มีน้ำทะเลสูง ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งและน้ำท่วมได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง