นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม ระบุว่า สารสกัดน้ำมันกัญชามาตรฐานเกรดทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ที่จะสกัดได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ จำนวน 2,500 ขวด ในระยะแรกจะแจกให้ผู้ป่วยในโครงการศึกษาวิจัย 2 ประเภท ที่ร่วมมือกับกรมการแพทย์ คือ ประเภทที่ 1 เป็นการวิจัยตามโครงการรักษาด้วยช่องทางพิเศษ จะรักษาและเก็บข้อมูลการวิจัยควบคู่กันไป ได้แก่ ผู้ป่วยภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากในเด็กและโรคลมชักที่ดื้อยา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาทที่ใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล
ส่วนโครงการวิจัยประเภทที่ 2 เป็นการศึกษาวิจัยเชิงลึก ที่ต้องศึกษาวิจัยทั้งทางห้องปฏิบัติการ การวิจัยทางพรีคลินิก และการวิจัยทางคลินิกกับผู้ป่วยกลุ่มโรคที่สารสกัดกัญชาน่าจะได้ประโยชน์ในการควบคุมอาการ แต่ต้องมีข้อมูลทางวิชาการเพิ่มในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผล เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวล ผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย รวมทั้งกลุ่มโรคที่สารสกัดกัญชาอาจมีประโยชน์ เช่น โรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ โดยผู้ป่วยสามารถสมัครเข้าสู่โครงการวิจัยทั้ง 2 ประเภทได้ที่กรมการแพทย์
ตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิต 80,000 ขวดต่อปี
ขณะที่ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า จะเก็บเกี่ยวดอกกัญชาตัวเมียและสกัด เป็นสารสกัดกัญชาทางการแพทย์แบบหยดใต้ลิ้นชุดแรก ขนาด 5 มิลลิลิตร จำนวน 2,500 ขวด ซึ่งจะผลิต 3 สูตร โดยยึดหลักต้องปลอดภัยทุกขวด, สารมีฤทธิ์ของยาที่ใกล้เคียงกัน และต้องมีประสิทธิภาพเพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการศึกษาวิจัยฯ โดยต้นปี 2563 องค์การเภสัชกรรม จะเริ่มปลูกและผลิตสารสกัดกัญชาในระดับกึ่งอุตสาหกรรมได้ ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 8 เท่า หรือประมาณ 80,000 ขวดต่อปี ทำให้เข้าถึงผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการวิจัยได้เพิ่มมากขึ้น