นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ปริมาณน้ำแข็งจากภาพถ่ายดาวเทียมเทือกเขาหิมาลัยเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว พบว่า ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา น้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยละลายหายไปถึง 8,300 ล้านตันต่อปี ละลายเร็วขึ้นเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบจากก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปี 2518 - 2543 ที่น้ำแข็งละลายเพียงแค่ 4,300 ล้านตันต่อปี เมื่อเทียบกับเมื่อปี 2518 นักวิจัยคาดว่า เทือกเขาหิมาลัยปัจจุบันมีน้ำแข็งเหลือเพียงร้อยละ 72 เท่านั้น
หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ของทีมวิจัย ระบุว่า หิมาลัยเป็นเทือกเขาที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำสำคัญๆ กว่า 10 สาย ผลกระทบที่เห็นได้ชัดที่สุดจากวิกฤตนี้คือ การเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำทั่วภูมิภาค
นอกจากนี้ น้ำแข็งที่ละลายเร็วขึ้นจะนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับน้ำต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 1,000 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในแถบเทือกเขาหิมาลัย ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า วิกฤตน้ำแข็งเทือกเขาหิมาลัยในอนาคตขึ้นอยู่กับความพยายามของประชาคมโลกที่จะช่วยกันลดภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิภายในโลกเพิ่มสูงขึ้น