วันนี้ (21 มิ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่ามีครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ 4,962,045 ครัวเรือน คนที่ไม่สูบบุหรี่จึงได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน โดยเฉลี่ยมากถึง 10,333,653 คน และพบอีกว่าผู้ได้รับควันบุหรี่เสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากขึ้น

นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลผู้ป่วยเด็กที่มาฉีดวัคซีนที่ รพ.รามาธิบดี 75 ราย ที่มีประวัติมีคนในบ้านสูบบุหรี่ พบว่าร้อยละ 76 มีสารโคตินินในปัสสาวะ ในจำนวนนี้มีร้อยละ 43 มีค่าสูงเกิน 2 นาโนกรัมต่อซีซีถึง 2 เท่า โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยในคอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนท์ ทาวน์เฮาส์ หากคนในบ้านสูบมากกว่า 20 มวน จะเจอสารโคตินินในปัสสาวะเด็กมากกว่าเกือบ 2 เท่า

ดังนั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 "บ้านปลอดบุหรี่ ลดความรุนแรงต่อสุขภาพ" มีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ส.ค.นี้ รายละเอียด คือการสูบบุหรี่ในบ้านจะสามารถเอาผิดได้ในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว เนื่องจากคำนิยามของความรุนแรงในครอบครัวนั้น รวมถึงการทำอันตรายต่อสุขภาพด้วย
และหากใครได้รับผลกระทบ หรือพบเห็นผู้ได้รับผลกระทบสามารถร้องเรียนได้ที่ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว ทุกจังหวัด หรือ พม.จังหวัดได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลและพิสูจน์ว่าได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการสูบบุหรี่จริงหรือไม่