โยฮันน์ โวร์เนอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอวกาศยุโรป หรือ อีเอสเอ (ESA) ระบุว่า ปัจจุบันวงโคจรโลกมีขยะขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร มากกว่า 700,000 ชิ้น และมีขยะที่ใหญ่กว่า 1 มิลลิเมตรกว่า 170 ล้านชิ้น โดยจำนวนขยะที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ขยะเหล่านี้เสี่ยงที่จะปะทะและสร้างความเสียหายให้กับดาวเทียมและสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) มากขึ้น
วิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้องค์การอวกาศยุโรป ต้องดำเนินการเคลื่อนย้ายและเปลี่ยนทิศทางสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) และดาวเทียมบางดวง
ในที่ประชุมสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องขยะอวกาศ ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นในเมืองดาร์มชตัท ประเทศเยอรมัน เมื่อปีที่แล้ว มีการพูดถึงแนวทางการกำจัดและหลีกเลี่ยงขยะในอวกาศ เช่น ความพยายามที่สร้างดาวเทียมไว้เคลื่อนย้ายดาวเทียมที่ไม่สามารถควบคุมได้ให้พ้นจุดอันตราย และการประดิษฐ์ตาข่ายอวกาศที่สามารถดักจับดาวเทียมที่กำลังจะหมดอายุก่อนที่มันจะระเบิดและแตกสลายกลายเป็นขยะในอวกาศ รวมไปถึงการแก้ปัญหาแบบยั่งยืนด้วยการสร้างโซนอวกาศเชิงพาณิชย์ที่ปลอดภัย เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมอวกาศ หรือสเปซ อีโคโนมี ในอนาคต