ในปีนี้ประเทศไทยทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียน มีบทบาทสำคัญในการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 20-23 มิ.ย.2562 ที่จะมีขึ้นที่กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) โดยมีผู้นำและคณะจากประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย ร่วมหารือเพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนอาเซียนมุ่งไปสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ ความเชื่อมโยง และการมองไปสู่อนาคตร่วมกัน
คณะอนุกรรมการด้านพิธีการและอำนวยการเพื่อเตรียมจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ได้คัดเลือกของขวัญที่จะมอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้นำอาเซียนและคู่สมรส หนึ่งในนั้นคือ “มาลัยเงิน” ผลงานของครูช่างศิลปหัตถกรรมของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ของขวัญซึ่ง SACICT คัดสรรให้เป็นของขวัญเพื่อมอบแก่ผู้นำอาเซียน สร้างสรรค์โดย ครูนฤมล ทอนใจ ผู้ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกและเชิดชูจาก SACICT ให้เป็นครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 ประเภทเครื่องโลหะ (เครื่องประดับเงิน) ซึ่งถือเป็นเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจของผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยภายใต้การส่งเสริมของ SACICT
ชิ้นงาน “มาลัยเงิน” ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพวงมาลัยถวายพระ ซึ่งแสดงออกถึงจิตคารวะ โดยพวงมาลัยมักถูกใช้ในวาระแห่งความเป็นมงคลและการต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยไมตรีจิต ซึ่งเป็นการสื่อความหมายที่ลึกซึ้งนอกไปจากความงดงามของภูมิปัญญา เทคนิคการทำที่ละเอียดประณีตบรรจงแล้ว ยังสอดคล้องกับตราสัญลักษณ์ของการประชุมอาเซียนในครั้งนี้ และการร้อยเรียงดอกไม้ยังสะท้อนความหมายบ่งบอกถึงความร่วมมือระหว่างประชาคมอาเซียน ที่มีความกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวในการช่วยเหลือเกื้อกูลและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เป็นความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและยั่งยืน ดุจมาลัยเงินที่ไม่มีวันโรยรา
ขณะที่นฤมล ทอนใจ ครูช่างศิลปหัตถกรรมของ SACICT รู้สึกภาคภูมิใจที่มาลัยเงินนี้จะถูกมอบไปยังผู้นำอาเซียนและคู่สมรส ทั้ง 10 ประเทศ สำหรับมาลัยเงินทำด้วยวัสดุเงินแท้ ผ่านขั้นตอนที่สลับซับซ้อน ทั้งการหลอมละลายด้วยอุณหภูมิสูงกว่าพันองศา และนำมาขึ้นรูปด้วยมือทุกขั้นตอน โดยเฉพาะการเลียนแบบธรรมชาติ ในการเข้ากลีบดอกมะลิ ดอกรัก และดอกกุหลาบ ทั้งตัวพวงมาลัย และการทำช่ออุบะ ตามแบบของจริงทุกประการ จึงออกมาเป็นมาลัยเงินที่มีความเหมือนจริง อ่อนช้อย ที่สะท้อนถึงทักษะ ฝีมือ องค์ความรู้ การพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ และภูมิปัญญาพื้นถิ่นของช่างเครื่องเงินพื้นบ้าน อ.ธาตุพนม จ. นครพนม