นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี ส.ส.ถูกยื่นตรวจสอบ 10 คน ได้ตั้งทีมทนายและฝ่ายกฎหมายเพื่อชี้แจง หักล้างข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งทุกคนชี้แจงว่าแม้จะมีการจดวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการว่าเกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อ โดยข้อเท็จจริงไม่ได้ประกอบกิจการหรือดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจสื่อ เป็นเพียงการจดทะเบียนไว้กว้างๆ เท่านัน
เช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ ที่เรียกประชุม ส.ส.เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจในข้อมูล ก่อนชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีที่พรรคพลังประชารัฐจะยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบการถือหุ้นสื่อของ 55 ส.ส.ใน 7 พรรคฝ่ายค้านนั้น นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่า หุ้นสื่อของ ส.ส.ส่วนใหญ่เป็นบริษัทร้าง-เลิกกิจการนานแล้ว และอีกส่วนหนึ่งคือการเขียนวัตถุประสงค์ในหนังสือบริคณห์สนธิที่มีการเขียนเอาไว้กว้างๆ
ซึ่งกรณีนี้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะวินิจฉัยให้เกิดความชัดเจนว่าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) การเป็นเจ้าของ หรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนอื่นใด หมายถึงการถือหุ้น หรือเป็นเจ้าหน้าสื่อ ตามหนังสือบริคณห์สนธิที่แจ้งเป็นวัตถุประสงค์ในการจดทะเบียนบริษัทด้วยหรือไม่ แม้จะไม่ได้มีการดำเนินธุรกิจจริง
สำหรับรายละเอียดและมุมมองเรื่องการ "ถือหุ้นสื่อ" ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ป้องกันไม่ให้นักการเมืองใช้สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ว่าขณะนี้ลุกลามจนกลายเป็นเรื่องของเกมการเมืองไปแล้ว ทั้งกรณีของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.และก่อนหน้านี้ก็มีผู้สมัคร ส.ส.อีกหลายคนที่ถูกตัดสิทธิไม่ให้ลงสมัคร เพราะเรื่องดังกล่าว