ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รายได้ท่องเที่ยวอุทยานปี 61 ทะลุ 2,700 ล้านบาท

สิ่งแวดล้อม
4 ก.ค. 62
19:15
2,026
Logo Thai PBS
รายได้ท่องเที่ยวอุทยานปี 61 ทะลุ 2,700 ล้านบาท
กรมอุทยาน เปิดเม็ดเงินรายได้การจัดเก็บค่าธรรมเนียมท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ทุบสถิตินับตั้งแต่ก่อตั้ง รวม 2,700 ล้านบาท ระบุไม่ใช่เป้าหมายหลัก กระจายให้ท้องถิ่นร้อยละ 5 ช่วยสวัสดิการเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ชี้หมู่เกาะพีพี ครองแชมป์ 669 ล้านบาท

วันนี้ (4 ก.ค.2562) เพจเฟซบุ๊กกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช ได้เผยแพร่ข้อมูลการจัดเก็บเงินรายได้จากอุทยานแห่งชาติต่างๆทั่วประเทศ โดยระบุว่า ปีงบประมาณ 2561 เงินรายได้จากอุทยานต่างๆทั่วประเทศรวมแล้วมียอดเงินสูงขึ้นอีก คือ 2,700 ล้านบาท  ถือเป็นการทำสถิติการเก็บรายได้สูงสุดในรอบ 12 ปี นับแต่ตั้งกรมอุทยานแห่งชาติขึ้นมา

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า เมื่อมีความจริงจัง ไม่มีนอก ไม่มีใน ใดๆ สำหรับการจัดเก็บเงินรายได้ เริ่มตั้งแต่ การให้บุคคลระดับหัวหน้าอุทยานไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของตัวเอง สำคัญที่สุด คือ หากมีความโปร่งใสในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย เมื่อหัวหน้าอุทยานคนนั้นเข้าไปทำหน้าที่โดยไม่มีต้นทุนอะไร เขาก็จะสามารถบริหารจัดการเงินรายได้ที่เข้ามาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ปีนี้ปิดอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ได้รับความนิยมมาก อย่างอ่าวมาหยา เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัว แต่เรายังเก็บเงินรายได้ตั้ง 2,700 ล้านบาท

อธิบดีกรมอุทยาน อธิบายเพิ่มว่า สำหรับเงินรายได้อุทยานฯ ที่กรมอุทยาน จัดเก็บมาได้ทั้งหมดนั้น เมื่อมีการสรุปในแต่ละรอบปีแล้ว ตามหลักเกณฑ์ต้องแบ่งรายได้ที่อุทยานแห่งชาตินั้นๆตั้งอยู่ ให้กับท้องถิ่นจำนวน 5% ของเงินรายได้ทั้งหมด

เช่น ตลอดทั้งปีเก็บเงินรายได้ 100 บาท ต้องแบ่งให้ ท้องถิ่น 5 บาท เก็บได้ 100 ล้านบาท ก็ต้องให้ท้องถิ่น 5 ล้านบาท เป็นต้น หลังจากนั้น เงินก็จะถูกโอนเข้าทางคลังจังหวัด ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติโดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 1–16 และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์สาขาทุกสาขา เป็นผู้ดูแลทั่วประเทศ

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติและพันธุ์พืช

 

การนำเงินรายได้อุทยานไปใช้นั้น เมื่อพื้นที่ไหน อุทยานใด ต้องการใช้เงิน ก็ต้องทำเรื่องเสนอแผนเข้ามา หลักการใช้เงินรายได้ของกรมอุทยานแห่งชาติที่กำหนดเอาไว้ในพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 คือ ต้องใช้เพื่อทำนุบำรุงอุทยานแห่งชาติเท่านั้น

ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวอาจจะเป็นอุปสรรคสำหรับการนำเงินส่วนนี้มาใช้สำหรับดูแลสวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เช่น ก่อนหน้านี้ กรมอุทยานฯจะนำเอาเงินส่วนนี้มาเพื่อดูแลสวัสดิการ ซื้อประกันชีวิตแก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า แต่มีการตีความทางกฎหมายว่า เอามาใช้เพื่อดูแลสวัสดิการเจ้าหน้าที่ไม่ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อพ.ร.บ.ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ในปลายปีนี้จะเกิดความคล่องตัวสำหรับการดูแลสวัสดิการของเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามากยิ่งขึ้น  

อธิบดีกรมอุทยาน กล่าวว่า ประชาชนไม่ต้องกลัวว่าหากพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ผ่านการพิจารณาแล้ว จะมีการเอาเงินรายได้ส่วนนี้มาใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เพราะขั้นตอนการพิจารณานำเงินรายได้มาใช้นั้น ต้องพิจารณากลั่นกรองกันหลายขั้น ตั้งแต่การเขียนโครงการในพื้นที่ ผ่านการพิจารณาของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ของพื้นที่นั้น

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติและพันธุ์พืช

 

หลังจากนั้นก็จะถูกส่งเข้ามาที่สำนักอุทยานแห่งชาติ แล้วจะถูกส่งเข้าพิจารณาในคณะกรรมการพิจารณาเงินรายได้อุทยานแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีทั้งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย และองค์กรพัฒนาเอกชนร่วมอยู่ด้วย หลังจากทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว อธิบดีจะเป็นผู้ลงนามอนุมัติ

เงินรายได้ ไม่ใช่สิ่งสำคัญของกรมอุทยาน เป้าหมายของคือการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของพี่น้องประชาชนให้อยู่คู่กับคนไทยตลอดไปต่างหาก

ทั้งนี้พบว่า 10 อันดับอุทยานยอดนิยมเก็บเงินรายได้สูงสุด มีดังนี้ 

  • หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี 669,150,880.68 บาท
  • อ่าวพังงา 391,441,149.91 บาท
  • หมู่เกาะสิมิลัน 308,001,294.49 บาท
  • เขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด 116,897,900 บาท
  • เอราวัณ 108,912,560.80 บาท
  • เขาใหญ่ 108,227,137.09 บาท
  • ดอยอินทนนท์ 72,674,788.00 บาท
  • เขาสก 63,029,460.00 บาท
  • หมู่เกาะลันตา 59,225,421.88 บาท
  • หมู่เกาะอ่างทอง 38,440,233.40 บาท

ปีงบประมาณ 2561 ยอดเงินถึง 2,700 ล้านบาท จากปี 2560 เก็บเงินได้ 2,413.63 ล้านบาท ปี 2559 จำนวน 1,982.17 ล้านบาท และเทียบจากปี 2550 เก็บได้เพียง 468 ล้านบาท 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง