ต้นเรื่องมาจากผู้ใช้เฟสบุ๊กคนหนึ่ง โพสต์ภาพบรรยากาศผู้ค้านั่งรอลูกค้า นั่งพักสายตาย่านตลาดสำเพ็ง พร้อมข้อความว่า
ตลาดสำเพ็งไม่เคยเงียบเหงาอย่างนี้ในรอบ 50 ปี สงสารจริงๆ
ถูกแชร์ และมีคอมเมนต์มากมาย ทั้งเห็นด้วยไม่เห็นด้วย บ้างก็บอกว่าวันธรรมดาเงียบมาก เสาร์อาทิตย์ยังแน่น ดึกๆ ยังคึกคัก หรือวิจารณ์ว่าเพราะเศรษฐกิจไม่ดี หรือเพราะออนไลน์แย่งตลาด
ถ้าจะถามว่าสำเพ็งจะล้มหายตายจากไปหรือไม่ คงคาดเดาได้ยาก แต่อยากชวนคิดว่า ตลาดดั้งเดิมอย่างสำเพ็ง จะถูกกลืนด้วยรูปแบบการค้าแบบออนไลน์จริงหรือไม่
เวลาเปลี่ยน ตลาดเปลี่ยน
ไม่ใช่แค่ตลาดสำเพ็งที่มีเสียงสะท้อนความเปลี่ยนแปลง แต่ตลาดค้าปลีกค้าส่งเก่าแก่อีกหลายพื้นที่ก็มีบางช่วงเวลาที่ต่างไป อย่างประตูน้ำที่มีผู้โพสต์บรรยากาศการค้าผิดกับสองปีก่อน แม่ค้ารายย่อยทยอยหายไป กำไรน้อยเสี่ยงสูง รายใหญ่บินไปสั่งของที่จีนเอง
“ตลาดโบ๊เบ๊” คนเดินบางส่วนก็บ่นมาเดินตอนเช้าทำไมเงียบจัง คนขายขายไปบ่นไปทำไมไม่มีคน
“ตลาดกิมหยง” ที่หาดใหญ่ มีผู้ให้ข้อมูลว่าขายได้ไม่เหมือนก่อนด้วยหลายปัจจัย เช่น ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ พืชผลเกษตรตกต่ำ รายได้น้อยลง
“ตลาดโรงเกลือ” ชายแดนบ้านคลองลึก จ.สระแก้ว จากที่เป็นค้าชายแดนใหญ่ที่สุด หลายร้านทยอยปิดตัว ทั้งกระจายไปที่ใหม่ ผู้ค้าอีกหลายคนเลิกกิจการหลังเจอปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์
ข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินว่า การค้าปลีก-ค้าส่ง จะขยายตัวรวมประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นการโตแบบชะลอลงเพราะปีก่อนเติบโต 8.5 เปอร์เซ็นต์ จากกราฟนี้ดัชนีทั้งค้าปลีกและส่งดิ่งลง
ดัชนียังชี้ว่าการทำการค้าแบบดั้งเดิมมีแนวโน้มแย่ลง ส่วนที่เติบโตได้ ไปกระจุกตัวผ่านช่องทางออนไลน์และโมเดิร์นเทรดมากกว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ 15 ปีก่อนที่เริ่มมีอินเทอร์เน็ต
ผลกระทบจากออนไลน์?
ทั้งข้อมูลศูนย์วิจัยฯ และเสียงสะท้อนจากผู้ค้าผู้ซื้อ มองเหมือนๆ กันคือ ลูกค้าหันไปซื้อผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น
สำหรับมุมมองของนักวิชาการด้านการตลาด อ.เอกก์ ภัทรธนกุล คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยอมรับว่า ช่องทางแบบออนไลน์ เข้ามาแย่งตลาดการค้าแบบดั้งเดิมจริง โดยเฉพาะผู้ค้าส่ง เพราะสินค้าทับซ้อนกันระหว่างการซื้อแบบเดิมกับแบบออนไลน์ สมมติซื้อกระเป๋าสำเพ็ง กระเป๋ามาจากจีน หากสั่งออนไลน์แบบเดียวกันก็ต้องสั่งที่จีน ของที่ได้จึงเหมือนกัน
เรื่องที่สองคือ ราคา การตลาดออนไลน์ ตั้งราคาแบบแปลก เรียกว่า money burning ขายขาดทุน ยอมเผาเงินทิ้งช่วงแรกเพื่อดึงลูกค้า
เรื่องที่สามคือ ลูกค้าหลักทั้งสำเพ็งและออนไลน์ คือกลุ่มเดียวกัน แม่ค้าซื้อสำเพ็งไปขายออนไลน์มีเยอะ หรือหันไปสั่งออนไลน์แทนก็มี แต่นักวิชาการการตลาดยังมั่นใจว่า ออนไลน์ไม่ชนะเสมอไป
ประมาณ 4 เดือนก่อน ทีมข่าวมีโอกาสสำรวจความคึกคักตลาดสำเพ็ง หลายคนก็เพิ่มช่องทางการค้าจากออนไลน์มากขึ้นจริง แต่บางคนก็ยังใช้วิธีค้าแบบเดิม
แม้ตอนนี้ระบบการค้าออนไลน์กลายเป็นจำเลยที่ถูกมองว่าแย่งการค้าแบบดั้งเดิม แต่ไม่ใช่เหตุผลนี้เหตุผลเดียวที่จะทำให้ ย่านการค้าเก่าแก่ หรือ ร้านค้าดั้งเดิมซบเซา เพราะแต่ละย่านมีปัจจัยอื่นที่แตกต่างกันที่จะมีผลให้การค้าแบบเดิมเผชิญความท้าทาย
สิ่งที่นักวิชาการด้านการตลาดย้ำคือ คุณเข้าใจลูกค้าของคุณแค่ไหน ว่าพวกเค้าใช้หรือไม่ใช้ออนไลน์ แล้วตอบสนองอำนวยความสะดวกให้มากที่สุด ถ้ายังไม่สนใจอีก ท้ายสุดออนไลน์ ต้องมากลืนกินการค้าแบบเดิมในไม่ช้า