วันนี้ (8 ก.ค.2562) นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ระบุว่า กระแสการดูละครชุดหรือซีรีส์ ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในไทยด้วย เนื่องจากสามารถดูได้จากโทรศัพท์มือถือ ซึ่งในแง่ดีนั้นสามารถใช้สร้างความสนุกสนาน ผ่อนคลายความเครียดจากงานประจำได้วิธีหนึ่ง แต่การดูจะต้องมีความพอดี เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้เช่นกัน
แม้ว่าในไทยจะยังมีข้อมูลการศึกษาเรื่องนี้น้อยมากๆ ก็ตาม แต่จากงานศึกษาวิจัยในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ พบว่าวัยผู้ใหญ่ประมาณ 1 ใน 3 ใช้เวลาดูทีวีเฉลี่ย 1.42 วันต่อสัปดาห์ ส่งผลเกิดปัญหาอ้วน และอดนอน มีผลต่อปัญหาการจดจำ รวมทั้งยังเสี่ยงต่อการเสพติด เช่นเดียวกับการเสพติดสารเสพติด ซึ่งเกิดมาจากกลไกภายในสมอง
ขณะที่ พญ.ภรทิตา เลิศอมรวณิช จิตแพทย์ ประจำโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาฯ ระบุว่า กรณีของซีรีส์ ซึ่งจะมีเป็นตอนๆ และมีระบบต่อเนื่องแบบอัตโนมัติ อาจทำให้เกิดความเพลิดเพลิน คือดูแบบต่อเนื่อง ซึ่งเรียกว่าพฤติกรรมนี้ว่าบิงจ์ วอชชิ่ง (Binge watching) คือดูรวดเดียวจบเรื่อง อาจใช้เวลามากเป็นวันหรือข้ามวันข้ามคืน เนื่องจากบางเรื่องอาจยาวเป็นร้อยๆ ตอน ผลกระทบที่ตามมาที่เห็นชัดเจน คือ การอดนอน จะมีผลต่อการทำงานของสมอง ทั้งด้านความคิดความจำ การเรียนรู้ทางด้านภาษา
นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลต่อการตัดสินใจที่เชื่องช้าลงหรือเรียกว่าสมองตื้อ มีผลกระทบกับการทำงานและการเรียน และยังทำให้อารมณ์หงุดหงิดง่ายขึ้น หากอดนอนต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการทางจิต (Psychosis) เช่น หูแว่ว ประสาทหลอนได้เช่นกัน
กลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ป่วยซึมเศร้า ซึ่งผลสำรวจของกรมสุขภาพจิต พบคนไทยมีอัตราป่วยร้อยละ 2.7 คาดว่าทั่วประเทศ มีประมาณ 1.5 ล้านคน เฉพาะในพื้นที่ 4 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ คาดมีผู้ป่วยกว่า 148,000 คน เข้ารักษาแล้วร้อยละ70 อีกร้อยละ 30 ยังไม่ได้รับการรักษา
หากจะดูซีรีส์สามารถดูได้ โดยดูร่วมกับคนในครอบครัว หรือกับเพื่อนและดูจบเป็นตอนๆ ไม่แนะนำให้ดูคนเดียว เนื่องจากจะเพิ่มเวลาในการอยู่คนเดียว ตัดตัวเองออกสังคมและผู้คนมากขึ้น โอกาสที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ลดลง หรือทำให้การออกไปใช้ชีวิตข้างนอก เช่น การออกกำลังกายน้อยลง ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งในแง่ผลการรักษา อาจทำให้อาการแย่ลงไปอีก โดยผู้มีอาการซึมเศร้าไม่ควรดูซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตหรือเรื่องเศร้าๆ เนื่องจากจะทำให้อารมณ์ที่เศร้าอยู่เดิม เกิดหดหู่ เหงาหงอยเพิ่มขึ้น หรือนอนไม่หลับอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
5 วิธีดูซีรี่ส์ ไม่มีปัญหา
สำหรับประชาชนทั่วไป โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาฯ มีคำแนะนำในการดูซีรีส์ 5 ข้อ ดังนี้
- ควรกำหนดเวลาดูให้ชัดเจน ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายพักผ่อนอย่างเต็มที่ คือผู้ใหญ่ ควรนอน 7-8 ชั่วโมง เด็กมัธยม ควรนอน 8-9 ชั่วโมง เด็กวัยประถมควรนอน 10-11 ชั่วโมง
- ไม่ดูซีรีส์ในห้องนอน เพื่อไม่ให้รบกวนเวลานอน
- ในการหยุดดูซีรีส์ ควรหยุดเมื่อจบตอน หรือหยุดดูในช่วงกลางๆของตอน เนื่องจากในช่วงท้ายตอนมักจะทิ้งปมค้างไว้ ทำให้เราอยากจะดูต่อ
- ควรจัดเวลาออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 วัน ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที การออกกำลังกายจะช่วยได้ทั้งคลายความเครียดและทำให้สุขภาพแข็งแรง
- ควรจัดเวลาให้ครอบครัว เช่น ช่วยกันเตรียมอาหาร รับประทานอาหารร่วมกัน
ทั้งนี้ โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาฯ ได้ให้เจ้าหน้าที่เพิ่มคำแนะนำเพื่อป้องกันผลกระทบจากการดูซีรี่ส์แก่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทุกคนและญาติด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษา ซึ่งผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มาใช้บริการนั้น เป็นรายที่มีอาการรุนแรงซับซ้อนทั้งสิ้น โดยมีผู้ป่วยนอกปีละประมาณ 9,000 คน มากเป็นอันดับ 2 รองจากโรคจิตเภท