จากกรณีที่มีรายงานข่าวว่าสามีภรรชาวต่างชาติ 2 คน ป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ จากการรับประทานผัดไทยในประเทศไทยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
วันที่ 9 ก.ค.62 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไทยมีระบบเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และการสอบสวนโรค ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค และสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ร่วมกันดำเนินการมาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ในการดูแลเกี่ยวกับอาหารนำเข้า ส่งออก และบริโภคภายในประเทศ เพื่อให้ประชาชนที่บริโภคได้รับความปลอดภัยจากอาหาร
ขณะนี้ กรมควบคุมโรคเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยประสานไปยังสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย และคณะกรรมการเครือข่ายความปลอดภัยด้านอาหารระหว่างประเทศ (INFOSAN) ภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR 2005) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักเรื่องอาหารปลอดภัย เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง นอกจากนี้ได้ประสานไปยังเครือข่ายระหว่างประเทศ และประชุมหารือผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าว
ยันเชื้อไม่ทนความร้อน
สำหรับเชื้อโรคตามที่ถูกอ้างถึงในเว็บไซต์นั้น เป็นโปรโตซัวในลำไส้สกุลหนึ่ง โดยทั่วไปเชื้อนี้ไม่ก่อโรคในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง เชื้อจะไม่ทนต่อความร้อน และกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งผัดไทยปรุงให้สุกด้วยความร้อน จึงไม่น่าจะใช่สาเหตุดังกล่าว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค และไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หนอนพยาธิ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวันหรือมากกว่า คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ อุจจาระอาจพบเยื่อมูกและมีเลือดปน ในบางคนมีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้
การป้องกันโรค ขอให้ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึงและสะอาด ล้างผัก ผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้มีด เขียง หั่นอาหารดิบและอาหารสุกร่วมกัน ดูแลความสะอาดของภาชนะใส่อาหาร ห้องครัว และการกำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล ตามหลักสุขาภิบาลอาหาร เพื่อไม่ให้ปนเปื้อนเชื้อโรค
แนะกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
ทั้งนี้ ขอแนะนำประชาชนให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ดังนี้ 1.กินร้อน คือ กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ในกรณีข้าวกล่อง อาหารถุง ต้องนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนกินทุกครั้ง 2.ใช้ช้อนกลาง คือ เมื่อกินอาหารร่วมกัน ควรใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร และ 3.ล้างมือ คือ ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหาร ก่อนปรุงอาหาร หลังขับถ่าย และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก นอกจากนี้ ควรจัดให้มีน้ำดื่มที่สะอาด มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะ มีการกำจัดขยะมูลฝอย และน้ำเสียที่เหมาะสมในบริเวณที่อยู่รวมกัน โดยเฉพาะในร้านอาหาร