นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หน้าฝนเป็นฤดูที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก องค์การอนามัยโลก คาดการณ์ว่า แต่ละปีจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสเดงกีทั่วโลกประมาณ 50-100 ล้านคน และร้อยละ 70 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วโลกมาจากภูมิภาคเอเชีย
จากรายงานการเฝ้าระวังโรคของประเทศสมาชิก 7 จาก 10 ประเทศ พบว่าในปี 62 ทั้ง 7 ประเทศ มีผู้ป่วยสูงกว่าเกณฑ์ตรวจจับการระบาด (Alert threshold) สำหรับไทยมีแนวโน้มที่จะมีการระบาดมากกว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ 1 ม.ค.-11 มิ.ย.62 มีรายงานผู้ป่วย 28,785 คน ซึ่งมากกว่าปี 61 ถึง 1.7 เท่า
เพื่อป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกไม่ให้ระบาด นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ได้สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ลงพื้นที่ดำเนินการให้สอดคล้องกับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อควบคุมยุงลาย ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2562-2566) เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ใน 7 ร. คือโรงเรือน โรงธรรม โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม โรงงาน และสถานที่ราชการ
ทั้งนี้ แนะสังเกตอาการของตนและคนในครอบครัว หากมีไข้สูงเฉียบพลันและไข้นานเกินกว่า 2 วัน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว หากเข้ามารับการวินิจฉัยช้า อาจเป็นเหตุสำคัญทำให้มีโรคแทรกซ้อนรักษายากขึ้น และเป็นปัจจัยที่ทำให้เสียชีวิตได้
รู้จักไข้เลือดออกสายพันธุ์ "เดงกี"
มหาวิทยาลัยมหิดล เชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) มีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 มียุงลายเพศเมียเป็นพาหะนำโรค (ข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)
เมื่อยุงลายดูดเลือดจากผู้ป่วยในระยะที่มีไข้ ซึ่งมีเชื้อไวรัสในกระแสเลือด เชื้อจะเข้าไปฝังตัวในกระเพาะยุงและต่อมน้ำลายของยุง มีระยะฟักตัวในยุง 8-12 วัน
ยุงที่มีเชื้อไปกัดคนอื่นเชื้อไวรัสก็จะเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่โดนกัด ก่อให้เกิดการติดเชื้อและป่วยตามมาหลังจากถูกกัดประมาณ 3-15 วัน สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น
ผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงต่ออาการรุนแรง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ เด็กทารกและผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างมีประจำเดือนหรือมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ผู้ที่มีโรคเม็ดเลือดแดงแตกง่าย หรือโรคที่เกิดจากฮีโมโกลบินผิดปกติ ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น อ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด ไตวาย ตับแข็ง ผู้ที่รับประทานยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือยาในกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
การติดเชื้อไวรัสเดงกีครั้งแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 80-90 อาการจะไม่รุนแรง บางรายอาจมี ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่นที่ผิวหนังได้ แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งที่สอง โดยเชื้อไวรัสที่สายพันธุ์ต่างจากครั้งแรก อาจมีอาการรุนแรงเกิดเป็นภาวะไข้เลือดออกได้
3 ระยะอาการควรรู้
ระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา มักไม่ค่อยตอบสนองต่อยาลดไข้ อาจมีอาการ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา ระยะนี้จะเป็นอยู่ราว 2-7 วัน
ระยะวิกฤต ระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลงผู้ป่วยที่เกิดภาวะแทรกซ้อนเลือดออก อาการจะไม่ดีขึ้น ยังคงเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย มากกว่าเดิม ต่างกับผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาการต่าง ๆ ค่อย ๆ ดีขึ้น ผู้ป่วยที่อาการรุนแรง อาจเกิดภาวะช็อก มีความดันโลหิตต่ำ มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาเร็ว ปัสสาวะออกน้อย ร่วมกับมีเลือดออกง่าย เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ เป็นต้น อาจทำให้เสียชีวิตได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง
หากมีไข้เกิน 2 วัน อาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษา
ระยะฟื้นตัว อาการต่าง ๆ จะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้นชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามลำตัว
ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพดีในการรักษา การรักษาประคับประคองที่ถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว บางรายอาการไม่รุนแรง อาจหายได้เองภายใน 2-7 วัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครึ่งปีแรกป่วยกว่า 4 หมื่นคน สูงสุดใน 5 ปี ตายแล้ว 62 คน