ผลวิจัยชี้ดูหนังสามมิติสนุกไม่ต่างจากหนังสองมิติ
ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องอวตาร ถือเป็นการเบิกทางไปสู่ยุคแห่งภาพยนตร์สามมิติที่ออกตามหลังมามากมาย แต่ไม่ได้หมายความว่าภาพยนตร์สองมิติจะด้อยกว่าเสมอไป เพราะผลวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนีย บอกว่าอรรถรสที่ได้จากภาพยนตร์สามมิติ แทบไม่ต่างจากภาพยนตร์สองมิติธรรมดา ทั้งในเรื่องความพอใจและความจำเกี่ยวกับภาพยนตร์ รวมทั้งมีแนวโน้มทำให้เกิดอาการปวดหัว ตาเมื่อยล้า และเกิดปัญหาด้านการมองเห็นหลังชมภาพยนตร์ได้ง่ายกว่า
วิจัยชิ้นนี้ศึกษาจากผู้ชม 400 คน ด้วยการให้เลือกชมภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง จากสามเรื่องคือ Alice In Wonderland, How to Train Your Dragon และ Clash of the Titans แล้วบันทึกความรู้สึกเปรียบเทียบกันระหว่างผู้ชมหนังสามมิติกับสองมิติ ซึ่งแอล มาร์ค แคริเออร์ ผู้วิจัยยอมรับว่า ผลที่ออกมาทำให้เขาประหลาดใจไม่น้อย โดยเฉพาะในเรื่องที่หนังสามมิติไม่ได้ช่วยให้เข้าใจหนัง หรือทำให้ผู้ชมจดจำหนังได้ดีขึ้น
รายได้จากตั๋วที่แพงกว่า ทำให้ค่ายหนังต่างพากันผลิตหนังสามมิติออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพยายามเปลี่ยนหนังที่ถ่ายทำแบบสองมิติ ให้เป็นหนังสามมิติทีหลัง เพื่อได้ภาพยนตร์มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการทวนกระแสสามมิติตามมา ไม่ว่าจะเป็ยวิจัยชิ้นนี้ หรือรายได้ที่ล้มเหลวของหนังสามมิติหลายเรื่อง เช่น Transformer: Dark of the Moon หรือ Mars Needs Mom
Steven Spielberg พ่อมดฮอลลีวู้ดที่กำลังจะส่งภาพยนตร์สามมิติเรื่องใหม่ The Adventures of Tintin ออกสู่ตลาด หวังว่าค่าตั๋วของหนังสามมิติ และสองมิติจะปรับให้ใกล้เคียงกันมากขึ้นในอนาคต เพราะเมื่อผู้ชมไม่เห็นความแตกต่างด้านราคา ก็จะสามารถเปรียบเทียบระหว่างหนังทั้งสองแบบในด้านเนื้อหาได้มากขึ้น