วันนี้( 19 ก.ค.2562) ภายหลังการประชุมร่วมระหว่างกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และตัวแทนบริษัทผู้รับเหมา นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ปัจจุบันกรมทางหลวงปรับ ปรุงทางหลวงหมายเลข 35 ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย
โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ตอน ตอนที่ 1 อยู่บริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน ถึงแสมดำ ตอนที่ 2 ช่วงแสมดำ-ซอยพันท้ายนรสิงห์ และตอนที่ 3 ซอยพันท้ายนรสิงห์-มหาชัยเมืองใหม่
นายอานนท์ กล่าวว่า ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่า การก่อสร้างแบบเดิม มีการออกแบบผิวถนนบางกว่าที่ควรจะเป็น เพราะมีผิวการจราจรเพียง 13 เซนติเมตร ทำให้พื้นผิวถนนบาง เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่า ด้านบนถนนจะมีโครงการทางยกระดับ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการจราจรด้านล่าง จึงออกแบบพื้นผิวให้บาง
วันนี้ได้หารือกับผู้รับเหมาแล้วว่าจะเพิ่มพื้นผิวจราจรให้หนาขึ้นอีก 20 เซนติเมตร พร้อมยืนยันว่าแม้จะเป็นการก่อสร้างแบบเดิมก็ยังสามารถใช้งานได้
อย่างไรก็ตาม การปรับแบบต่างๆ มาจากการปรับแบบของกรมทางหลวงเอง เอกชนจึงไม่จำเป็นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจากความล่าช้า และจะใช้กรอบวงเงินเดิมอยู่ที่ 2,200 ล้านบาท
"ศักดิ์สยาม" ลงพื้นที่ 21 ก.ค.นี้
อธิบดีกรมทางหลวง ยืนยันว่า การปูพื้นผิวจราจร ไม่ได้ทำให้เกิดการล่าช้าจากเดิมในสัญญาจะต้องมีการก่อสร้างแล้วเสร็จในปีหน้า แต่ขณะนี้มีความล่าช้าประมาณ 6 เดือนประกอบกับการปรับแบบคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2564 จากเดิมที่ต้องแล้วเสร็จส.ค.2563
ขณะที่ปัจจุบัน มีปริมาณการใช้มีปริมาณรถยนต์บนถนนพระราม 2 วันละประมาณ 200,000 คันต่อวัน จึงทำให้การจราจรติดขัด เนื่องจากบางช่วงมีการเบี่ยงจราจร โดยหลังจากนี้ กรมทางหลวงจะติดป้าย ประชาสัมพันธ์ถึงทางเลี่ยงบริเวณถนนฉิมพลี ถนนเพชรเกษม
ส่วนกรณีที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนว่า มีการปิดการจราจรบางช่วงแต่กลับไม่มีการก่อสร้าง ซึ่งอาจมีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นนั้น ยืนยันว่าการก่อสร้างผู้รับจ้างทำตามกระบวนการในการก่อสร้างเนื่องจากถนนพระราม 2 มีลักษณะเป็นดินอ่อน เมื่อถมทรายจึงต้องมีระยะรอคอยการทรุดตัวประมาณ 150 วัน เพื่อไม่ให้เกิดการทรุดตัวในอนาคต
ขณะเดียวกันในวันที่ 21 ก.ค.นี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะร่วมลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบการก่อสร้างโครงการดังกล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เทียบ "ผิวถนน" 2 โครงการขยายทาง "พระราม 2
ถนนพระราม 2 สร้างไม่รู้จบ หวั่นซ้ำรอยยุค “ถนนเจ็ดชั่วโคตร”