วันนี้ (21 ก.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการคาดการณ์ว่าหากไม่มีฝนตกลงมาภายในต้นเดือน ส.ค.นี้ ปริมาณน้ำในแม่น้ำชีที่ไหลผ่าน จ.มหาสารคาม จะใช้การได้เพียง 20 วันเท่านั้น ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ต่องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ชาวนางดสูบน้ำจากแม่น้ำชีเข้านาข้าว เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบการผลิตน้ำประปา แต่จากสำรวจของทีมข่าวไทยพีบีเอส พบว่ายังมีชาวนาบ้างส่วนสูบน้ำจากแม่น้ำชีเพื่อการเกษตร
ขณะที่ชาวบ้านโนนตูม ต.เกิ้ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม ระบายน้ำจากคลองชลประทานที่สูบจากสถานีสูบน้ำไฟฟ้าในแม่น้ำชี เข้านาข้าวที่กำลังจะแห้งตายเพราะขาดน้ำจากภาวะฝนทิ้งช่วงมานานเกือบ 2 เดือน ซึ่งระดับน้ำในแม่น้ำชีที่ไหลผ่าน จ.มหาสารคาม ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้นำชุมชน 2 หมู่บ้านใน ต.เกิ้ง กำหนดให้ชาวนาสูบน้ำจากแม่น้ำชีเพื่อการเกษตรได้เพียงวันละ 10 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและไม่ให้กระทบกับการใช้น้ำอุปโภคบริโภค
ส่วนแม่น้ำชีที่เป็นแม่น้ำสายหลักในการผลิตน้ำประปาในเขตเมืองมหาสารคามและอีก 4 อำเภอ คือ อ.โกสุมพิสัย, อ.กันทรวิชัย, อ.บรบือ และ อ.กุดรัง ปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องและเริ่มกระทบต่อการผลิตประปา ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องขุดร่องกลางแม่น้ำชีในเขต อ.เมือง เพื่อเปิดทางระบายน้ำให้ไหลได้สะดวกมากขึ้น ขณะที่ จ.มหาสารคาม ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้งแล้ว 2 อำเภอคือ อ.วาปีปทุม และ อ.พยัคฆภูมิพิสัย
ทั้งนี้ แม่น้ำชีที่ไหลผ่าน จ.มหาสารคาม มีความยาวกว่า 120 กิโลเมตร มีสถานีสูบน้ำไฟฟ้าเพื่อการเกษตรกว่า 40 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 50,000 ไร่ใน อ.โกสุมพิสัย อ.กันทรวิชัย และ อ.เมือง ระดับน้ำในแม่น้ำชีลดลงหลืออยู่เพียง 11 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 34 ของความจุอ่าง จากภาวะฝนทิ้งช่วงและเขื่อนอุบลรัตน์ลดการระบายน้ำ ทำให้แม่น้ำชีบางช่วงตื้นเขินเพราะบางพื้นที่มีการสูบน้ำจากแม่น้ำชีเพื่อการเกษตร ซึ่งหากในช่วงสัปดาห์หน้าไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำชีจะใช้การได้อีกเพียง 30 วัน
อีกทั้ง จ.มหารสารคาม ไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ จึงพึ่งพาเฉพาะฝนที่ตกในแต่ละปีและน้ำบาดาล ทำให้เมื่อเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงจึงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งขณะนี้อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กทั้ง 17 แห่งมีปริมาณน้ำเหลืออยู่เพียง 12 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของความจุอ่างทั้งหมด