วันนี้ (22 ก.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chainarong Setthachua ระบุว่า แม่น้ำโขงถูกฆาตกรรม โดยเผยภาพที่ระบุว่าถ่ายเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า หลังจากน้ำแห้งผิดปกติ ในช่วงเขื่อนไซะบุรี ทดลองเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า บริเวณหาดแห่ บ้านต้าย ต.นากั้ง อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ ระดับน้ำได้ลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้หอยเล็บม้า บริเวณหาดตายเกลื่อน ส่งกลิ่นเหม็น วันนี้น้ำขึ้นเล็กน้อย แต่หอยส่วนใหญ่ตายหมดแล้ว เห็นแต่เปลือกและซากเน่าของหอยที่เริ่มจมใต้น้ำ หลังจากนี้พี่น้องริมโขงจะเหลืออะไรเป็นอาหาร?
จากข้อมูลขณะนี้ วิกฤตแม่น้ำโขงได้ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ลงไปตามลำน้ำโขง โดยวิกฤตน้ำโขงได้เกิดขึ้นหนักในเขตเชียงคาน ปากชม สังคม จนถึงหนองคาย และหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ขยายลงไปจนถึงบึงกาฬ ที่บึงกาฬ การที่แม่น้ำโขงแห้งลงทันที ทำให้หาดทรายที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำโดยเฉพาะหอยต่างๆ เช่น หอยเล็บม้า โผล่เหนือน้ำ หาดทรายที่ร้อนระอุในตอนกลางวันได้ทำให้หอยตายเกลื่อนหาด และส่งกลิ่นเหม็น
ภาพ:Nut Cracker Nuttida PM
ส่วนหอยที่ยังมีชีวิตรอด เพราะอยู่น้ำลึกลงไปก็ง่ายต่อการถูกจับ เป็นภาพบริเวณหาดแห่ บ้านต้าย ต.นากั้ง อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ ที่หาดแห่โผล่เหนือน้ำ ซึ่งไม่เคยเกิดปรากฏการณ์น้ำแห้งในช่วงเวลานี้มาก่อน
วิกฤติแม่น้ำโขงแห้งเกิดขึ้นหลังจากเขื่อนไซยะบุ รีได้กักเก็บน้ำบางส่วนตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. และมีการทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าระหว่างวันที่ 17-19 ก.ค.ที่ผ่านมา ปัญหาของชุมชนสองฝั่งโขงหลังจากนี้ก็คือ การล่มสลายของความมั่นคงทางอาหาร เพราะแม่น้ำโขงคือแหล่งโปรตีนราคาถูกของคนริมฝั่งโขง
ภาพ: Nut Cracker Nuttida PM
ชวนตั้งกองทุนสู้เพื่อแม่น้ำโขง
ล่าสุดวันนี้ ยังได้โพสต์ว่า ขอเชิญพวกเราร่วมปกป้องแม่น้ำโขงด้วยกัน เรื่องของแม่น้ำโขงเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องของทุกคน แม้ไม่ใช่คนลุ่มน้ำโขง ก็มีส่วนร่วมได้ ที่บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ซึ่งเป็นจุดที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการสร้างเขื่อนเหนือขึ้นไป เป็นจุดที่พี่น้องต่อสู้มานานตั้งแต่ยังไม่มีการสร้างเขื่อน
ผมนำนิสิตนักศึกษาลงพื้นที่นี้มาหลายครั้ง นิสิตหลายคนจบเพราะมาฝึกงานและอยู่กินกับพี่น้องโขงที่นี่ และทุกวันนี้พี่น้องเข้มแข็งมากขึ้น พร้อมที่จะสู้ ขณะที่ลูกศิษย์ผมจบไปแล้วก็ยังทำงานสนับสนุนพี่น้องในการปกป้องแม่น้ำโขงที่นี่ ในการต่อสู้จำเป็นต้องมีทุน ท่ามกลางสถานการณ์ที่อาหารและรายได้จากทรัพยากรในแม่น้ำโขงหดหายหรือไม่มีเลยเพราะได้รับผลกระทบจากเขื่อน
ภาพ:ผู้ชาย ธรรมดา Bell Supattra In
ดังนั้น ผมจึงตกลงกับพี่น้องบ้านม่วง ซึ่งจะต่อสู้ระยะยาว จัดตั้งกองทุนของกลุ่มขึ้นมา โดยความคิดนี้เริ่มต้นจากการที่ผมและพี่น้องอยากเชิญสื่อมวลชนมาลงทำข่าวที่น้ำโขง เราไม่มีเงินจ่ายค่าเครื่อง ไม่มีรถปรับอากาศรับส่ง ไม่มีโรงแรมหรู หรือมีออพชั่นนำเที่ยว เหมือนอย่างที่ทุนเจ้าของเขื่อนทำ แต่จะพาลงสนามได้ อยากทานข้าวด้วยกัน ก็จะเลี้ยงแบบบ้านๆ กัลยาณมิตรท่านหนึ่งจึงได้แชตมาจะขอบริจาคเงินเพื่อให้พี่น้องเป็นค่าใช้จ่าย ความคิดในการจัดตั้งกองทุนเพื่อให้พี่น้องใช้ในการต่อสู้จึงเกิดขึ้น
งานนี้เราจะสู้กันยาว แพ้ชนะไม่สำคัญเท่ากับว่าเราได้สู้เพื่อแม่น้ำโขง-ราชาแห่งสายน้ำ และลูกหลานของเรา แต่เรามีความเชื่อมั่นว่าโลกต้องเปลี่ยน วันหนึ่งแม่น้ำโขงต้องไหลอย่างอิสระ ไม่คนรุ่นเราก็คนรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา เหมือนอย่างในอเมริกาที่ยุคหนึ่งเขื่อนสร้างได้ มายุคนี้ก็รื้อทิ้งได้ เพียงเพื่อให้ปลากลับมาหากิน วางไข่ และเป็นอาหารและรายได้ทางเศรษฐกิจ ที่สูงกว่าไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อน
พี่น้องกำลังไปเปิดบัญชี และแจ้งมายังกัลยาณมิตรทุกท่านครับ
ภาพ:ผู้ชาย ธรรมดา Bell Supattra In
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เขื่อนจีนปล่อยน้ำเพิ่ม คาดไหลถึงไทยภายใน 1-2 วัน