ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ฝนต่ำกว่าเกณฑ์ 30-40% สทนช.ชงแผนคุมใช้น้ำ เสนอนายกฯ

ภัยพิบัติ
22 ก.ค. 62
16:34
1,181
Logo Thai PBS
ฝนต่ำกว่าเกณฑ์ 30-40% สทนช.ชงแผนคุมใช้น้ำ เสนอนายกฯ
สทนช.ชี้ค่าฝนตกน้อยกว่าค่าปกติถึง 30-40% ส่งผลน้ำในอ่างโดยเฉพาะภาคกลางน้อยกว่า 20% เล็งชงแผนแก้วิกฤติน้ำน้อยฤดูฝน-คุมการใช้น้ำ เสนอนายกรัฐมนตรี พร้อมเตรียมเปิดศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวเพื่อบูรณาการข้อมูลในภาวะวิกฤติตามติดแล้งให้เป็นเอกภาพ

วันนี้ (22 ก.ค.2562) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 8/2562 ว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามประเมิน คาดการณ์สภาพอากาศ ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำปัจจุบัน พบว่ามีปริมาณน้ำรวม 38,665 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 47% ดังนี้

  • ภาคเหนือ 9,183 ล้านลบ.ม.ร้อยละ 34
  • ภาคกลาง 508 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 20
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4,246 ล้านลบ.ม. ร้อยละ 33
  • ภาคตะวันตก 18,284 ล้านลบ.ม. ร้อยละ 68
  • ภาคตะวันออก 1,120 ล้านลบ.ม. ร้อยละ 36
  • ภาคใต้ 5,323 ล้านลบ.ม.ร้อยละ 58

ส่วนและศักยภาพน้ำบาดาล 1,228 ล้านลบ.ม.ต่อเดือน โดยมีปริมาณน้ำต้นทุนมากกว่าปี 2558 จำนวน 2,293 ล้านลบ.ม.หรือร้อยละ 7 แต่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2561 จำนวน 11,904 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 25 นอกจากนี้ยังมีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 19 แห่ง ซึ่งต้องเฝ้าระวัง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง อีก 151 แห่ง

 

ชี้ฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 30-40

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า การที่ปริมาณน้ำต้นทุนมีปริมาณน้อยแม้จะอยู่ในช่วงฤดูฝน มีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ปริมาณฝนตกช่วงฤดูฝนปี 2561 ตกน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 10–17 และมีการส่งน้ำให้กับพื้นที่เกษตรที่เพาะปลูกเกินแผนในฤดูแล้งปี 61/62 โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกเกินแผน 1.2 ล้านไร่ ทำให้ต้องจัดสรรน้ำมากกว่าแผนร้อยละ 20 หรือ 1,528 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณฝนตกจริงน้อยกว่า ที่คาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ร้อยละ 30-40 ในภาคเหนือ กลาง และตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงทำให้ต้องจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำให้พื้นที่การเกษตรมากกว่าแผน

ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยา และสสน.ได้ยืนยันคาดการณ์ปริมาณฝนที่จะตกในช่วงครึ่งแรกของฤดูฝนเดือน พ.ค.-ก.ค.จะมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 5-10 ส่วนครึ่งหลังของฤดูฝน ตั้งแต่ ส.ค.-ต.ค.จะมีปริมาณฝนใกล้เคียงกับค่าปกติ คาดว่าจะมีพายุพัดผ่านประเทศไทย 1-2 ลูกในช่วงเดือนส.ค.นี้

จากสถิติฝนที่ตกจริงในช่วงเดือน มิ.ย.-15 ก.ค.นี้ ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 30-40 ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ยังมีปริมาณฝนมากกว่าปี 2558 ซึ่งเป็นปีแล้งสุดร้อยละ 12

ส่วนภาคอื่นๆ เป็นไปตามคาดการณ์ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเอลนิโญกำลังอ่อน โดยที่การคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสสน. สำหรับครึ่งหลังฤดูฝนยังคงยืนยันเหมือนเดิม คือ ใกล้เคียงกับค่าปกติ เทียบใกล้เคียงกับปี 2550

 

ภาพ:สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

ภาพ:สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

ภาพ:สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

 

เปิดศูนย์เฉพาะกิจ-ชงควบคุมใช้น้ำ 

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ล่าสุด สทนช.ได้ประเมินพื้นที่ฝนตกน้อยและอาจมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน 83 อำเภอ 20 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 35 อำเภอ 10 จังหวัดภาคใต้ 27 อำเภอ 3 จังหวัด ภาคเหนือ 18 อำเภอ 6 จังหวัด และภาคตะวันตก 3 อำเภอ 1 จังหวัด

เบื้องต้นที่ประชุมได้พิจารณามาตรการรับมือภัยแล้งในช่วงฤดูฝน เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีโดยเร่งด่วนทั้งมาตรการเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว โดยจะเปิดศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เพื่อบูรณาการกับศูนย์ปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรี 

 

ภาพ:สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

ภาพ:สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

ภาพ:สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

 

นอกจากนี้จะมีปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เหนือและท้ายอ่างเก็บน้ำ ปรับแผนการระบายน้ำและการเพาะปลูกพืช สนับสนุนน้ำอุปโภคบริโภคจากแหล่งน้ำใกล้เคียงในพื้นที่เสี่ยง เร่งรัดขุดลอกเพิ่มความจุแหล่งน้ำต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ประกาศภัยแล้ง-แล้งซ้ำซาก 144 โครงการ วงเงิน 1,226 ล้านบาท ปรับแผนการขุดเจาะ และซ่อมแซมบ่อบาดาล

รวมทั้งทบทวนการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน น้ำท่าที่ไหลเข้าอ่าง และน้ำในแม่น้ำ ในช่วงวันที่ 15 ก.ค.- 31 ต.ค.นี้ เพื่อวางแผนการใช้น้ำฤดูฝนนี้ และฤดูแล้งปี 62/63  เร่งรัดการก่อสร้างและซ่อมแซมฝายชะลอน้ำบริเวณต้นน้ำในเขต 67 จังหวัด 30,000 แห่ง งบ 3,000 ล้านบาท สำรวจความต้องการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ บริหารจัดการน้ำฝนที่ตกบริเวณพื้นที่ด้านท้ายแหล่งเก็บกักน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเก็บกับน้ำให้ได้มากที่สุด และนำน้ำที่จะระบายทิ้งกลับมาใช้ใหม่

กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรหรือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด รวมถึงบูรณาการข้อมูลให้เป็นเอกภาพ รณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำทุกภาคส่วนต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้ได้ไม่น้อยกว่า 3,200 ล้านลบ.ม.ภายในวันที่ 1 พ.ย.นี้ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง