เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (22 ก.ค.62) พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) แถลงข่าวชี้แจง พร้อมให้ทุกฝ่ายตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบที่หมดสติ ขณะถูกนำตัวไปสอบสวนค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี
ขณะที่รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลปัตตานี เปิดเผยอาการของนายอับดุลเลาะว่า ความดันชีพจรและสัญญาณชีพดีขึ้นกว่าเมื่อวาน (21 ก.ค.62) แต่สมองยังไม่ตอบสนอง เนื่องจากสมองมีภาวะขาดออกซิเจน ทำให้สมองบวม แต่ไม่มีร่องรอยบาดแผลภายนอก มีเพียงบาดแผลบริเวณตาตุ่มซ้ายถลอกเล็กน้อยเท่านั้น
ด้านนางซุไมยะห์ มิงกา ภรรยานายอับดุลเลาะ ระบุว่า ได้แจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี เพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสามี เพราะไม่เชื่อว่าอาการสมองบวมเกิดได้เอง และตัดสินใจนำสามีมารักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ เพราะรู้สึกลำบากใจเนื่องจากการรักษาตัวที่โรงพยาบาลปัตตานี มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเฝ้าสังเกตและถ่ายรูปทุกคนที่มาเยี่ยมบริเวณหน้าห้อง ICU จึงกังวลและรู้สึกไม่ปลอดภัย นอกจากนี้อยากให้นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะผู้ติดตามสถานการณ์ปัญหาในภาคใต้มาตลอด 10 กว่าปี มาร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบด้วย
ขณะที่แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.พรรคภูมิใจไทย กล่าวภายหลังเข้าเยี่ยมนายอับดุลเลาะที่โรงพยาบาลปัตตานีว่า ควรตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยมีชาวบ้านร่วมเป็นกรรมการ และจากการพูดคุยกับพี่สาวของนายอับดุลเลาะ ระบุว่าเป็นคนแข็งแรงและอายุไม่มาก
สอดคล้องกับ ผศ.อับรอซะ วรรณอาลี รองอธิการบดี ม.ราชภัฎยะลา มองว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นสิ่งที่น่ากังวลคือประชาชนไม่เชื่อภาครัฐและเชื่อข่าวลือมากกว่า หลังจากนี้รัฐจึงต้องทบทวนและปรับรูปแบบกระบวนการซักถาม เพราะยังถือว่าเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการสอบสวน
สำหรับศูนย์ซักถามในค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ใช้สำหรับเชิญตัวผู้ต้องสงสัย หรือผู้ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในคดีความมั่นคง เพื่อซักถามข้อมูล โดยภายในจะมีศูนย์การแพทย์สำหรับคัดกรอกและตรวจร่างกาย ก่อนจะเข้าไปในศูนย์ควบคุมชั่วคราว ซึ่งแบ่งออกเป็นห้อง เรียงติดกัน ไม่มีกลอนประตูล็อกป้องกันการก่อเหตุฆ่าตัวตาย มีห้องสำหรับละหมาด ไม่มีห้องสำหรับการซักถามโดยเฉพาะ แต่จะใช้พื้นที่นอกห้อง หรือศาลา สำหรับซักถามข้อมูลจากผู้ต้องสงสัย แต่ละครั้งจะควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยสำหรับซักถามไว้ไม่เกิน 7 วัน