องค์การวิจัยด้านอวกาศแห่งอินเดียประสบความสำเร็จในการส่งยานจันทรายาน 2 (Chandrayaan-2) พร้อมรถหุ่นยนต์สำรวจขึ้นสู่อวกาศโดยใช้จรวด GLSV Mark III เพื่อออกเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ ยานจันทรายาน 2 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 วันเพื่อเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์และยานมีกำหนดการลงจอดบริเวณขั้วด้านใต้ของดวงจันทร์ในวันที่ 7 กันยายนนี้ นับเป็นภารกิจสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ครั้งที่ 2 หลังจากอินเดียเคยส่งยานจันทรายาน 1 ไปสำรวจผิวดวงจันทร์ในปี 2008
ยานจันทรายาน 2 ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นในโดยทีมวิศวกรอินเดียตัวยานมีน้ำหนักประมาณ 3.8 ตัน โครงสร้างของยานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ยานวงโคจร (Orbiter) และยานสำรวจ (Lander) มีชื่อว่าวิครัม (Vikram) โดยภายในยานสำรวจวิครัมมีรถหุ่นยนต์สำรวจ 1 คันชื่อว่าแพรคยาน (Pragyaan) รถหุ่นยนต์สำรวจคันนี้มีน้ำหนักประมาณ 27 กิโลกรัมใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์เคลื่อนที่ด้วยล้อ 6 ล้อติดตั้งเครื่องมือสำรวจผิวดวงจันทร์และกล้องถ่ายภาพความคมชัดสูงสามารถปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ได้นานอย่างน้อย 14 วัน
จรวด GLSV Mark III ที่ใช้ขนส่งยานจันทรายาน 2 ถูกปล่อยจากศูนย์อวกาศสาทิศธาวัน รัฐอานธรประเทศ ชายฝั่งตะวันออกของประเทศอินเดีย จรวดแบ่งการทำงานออกเป็น 4 ช่วง หน่วยการบินพลเรือนอินเดียออกประกาศแจ้งเตือนว่าจรวดท่อนที่ 4 ซึ่งเป็นท่อนสุดท้ายอาจตกลงในบริเวณทะเลอันดามันห่างจากชายฝั่งจังหวัดภูเก็ตของประเทศไทยประมาณ 357 กิโลเมตร ประชาชนที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ตอาจมองเห็นลำแสงจากจรวดท่อนที่ 4 ได้เหนือท้องฟ้าทางทิศตะวันตก
อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่มีการพัฒนาด้านอวกาศอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการพัฒนาจรวดขนส่งอวกาศ ยานสำรวจอวกาศ รวมไปถึงภารกิจขนส่งดาวเทียมเชิงพาณิชย์ อินเดียเริ่มต้นวิจัยพัฒนาจรวดขนส่งอวกาศ Satellite Launch Vehicle (SLV) ตั้งแต่ปี 1987 จนสามารถพัฒนาจรวด GLSV Mark III ซึ่งเป็นจรวดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของอินเดียในปัจจุบัน นอกจากโครงการสำรวจดวงจันทร์อินเดียยังเป็นประเทศแรกของเอเชียที่สามารถส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวอังคาร โดยยานมังกลายาน (Mangalyaan) เดินทางเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารได้สำเร็จในวันที่ 24 กันยายน 2014 นอกจากนี้อินเดียยังมีแผนการส่งมนุษย์อวกาศอินเดียคนแรกขึ้นสู่วงโคจรของโลกในปี 2022 หากประสบความสำเร็จอินเดียจะกลายเป็นประเทศลำดับที่ 4 ของโลกที่สามารถส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ
ยุคใหม่ของการสำรวจอวกาศได้เริ่มต้นขึ้นแล้วความพยายามของอินเดียในการก้าวขึ้นสู่ชาติมหาอำนาจด้านอวกาศส่วนหนึ่งเกิดจากการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศกับประเทศจีนซึ่งมีโครงการสำรวจอวกาศที่กำลังพัฒนาแบบก้าวกระโดดด้วยเช่นกัน ในช่วงปลายปี 2018 ที่ผ่านมาองค์กรอวกาศจีน China National Space Administration (CNSA) ประสบความสำเร็จในการนำยานฉางเอ๋อ-4 (Chang’e 4) ลงจอดบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์สำเร็จมาแล้ว
อย่างไรก็ตามการแข่งขันพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศนั้นไม่ใช่สิ่งที่สูญเปล่าผลลัพธ์ที่ได้ออกมานั้นนอกจากความสำเร็จในการทำภารกิจยังมีงานวิจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น วัสดุศาสตร์ การปลูกพืช ระบบดำรงชีพ เครื่องมือทางการแพทย์และยารักษาโรค รวมไปถึงการพัฒนาบุคคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมากซึ่งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยในการพัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี