ถนนพระราม2 ที่มีรถติดหนักกว่าปกติ มีปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการก่อสร้างเพื่อขยายถนนบางขุนเทียน-เอกชัย
ไทยพีบีเอสออนไลน์ จึงขุดค้นข้อมูลเพื่อหาคำถามถึงสาเหตุที่ทำให้การปรับขยายถนนล่าช้า พบว่า โครงการเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.พ. ปี 2561 และมีกำหนดแล้วเสร็จ ปี 2563 แต่หลังการก่อสร้าง กว่า 1 ปี โครงการมีความล่าช้าอย่างน้อย 10 % (ข้อมูล การให้สัมภาษณณ์ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม วันที่ 29 ก.ค.62)
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ความล่าช้าของโครงการมีหลายปัจจัย เช่น การก่อสร้างระยะแรก ผู้รับเหมาจะทำงานได้เฉพาะช่วง 22.00 -04.00 น. เท่านั้น เพราะส่วนงานจราจรในพื้นที่ขอความร่วมมือไม่ก่อสร้างในช่วงเช้าเพราะห่วงผลกระทบด้านการจราจรติดขัด
ทั้งนี้แบบก่อสร้างตามคู่สัญญา ต้องมีการแก้ไขแบบ เพราะการออกแบบไม่สอดคล้องกับสถาพพื้นที่จริง ซึ่งการแก้ไขแบบทำให้การดำเนินการล่าช้า และส่งผลให้ผู้รับเหมามีปัญหาการเบิกจ่ายงบฯ ในการก่อสร้าง ที่สำคัญหากมีการก่อสร้างตามแบบที่ออกแบบมา คาดว่าจะต้องซ่อมถนนหลังเปิดใช้ 3 ปี
ไทยพีบีเอสออนไลน์ ค้นข้อมูลเชิงลึกพบว่า แบบการก่อสร้างถนนมีปัญหา โดยเฉพาะการออกแบบ “ผิวถนน” ที่เป็นส่วนยางมะตอย (Asphalt) ซึ่งออกแบบมามีความหนาเพียง 13 ซม. ทั้งที่ผิวถนนที่เป็นทางระหว่างเมือง และมีรถบรรทุกวิ่งผ่านควรมีผิวถนนหนาไม่ต่ำกว่า 20 ซม. ทั้งนี้การออกแบบผิวถนนบางจะทำให้ถนนเสื่อมสภาพเร็วขึ้นและต้องได้รับการซ่อมแซม
แบบการก่อสร้างถนนพระราม 2 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ปี 2561
รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. ให้ความเห็นถึงความหนาของผิวการจราจรว่า ถนนที่มีปริมาณรถสัญจรสูงหลักแสนคันต่อวัน ควรจะมีผิวถนนหนาสูงสุดถึง 27 ซม. หรือต่ำสุดอยู่ที่ 15 ซม. หากเป็นถนนทั่วไปที่มีรถวิ่งผ่านเพิ่มขึ้นก็สามารถเพิ่มความหนาของผิวถนนได้ หรือเปรียบเทียบให้เห็นภาพยิ่งขึ้น เช่น ถนนในพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะมีความหนา 20 ซม.
ส่วนใหญ่ต่ำสุดประมาณ 15 ซม. เป็นถนนทั่วไป ถ้าเป็นโรงงานรถเยอะ 20 ซม. ก็ถือว่าเยอะพอสมควร
จากข้อสังเกต รศ.เอนก ข้างต้น ผู้สื่อข่าวพบว่า ช่วงที่มีการปรับขยายทางตั้งแต่บางขุนเทียน-เอกชัย มีโรงงานโดยรอบพื้นที่เกือบ 1 หมื่นแห่ง และมีรถขาออกจากกรุงเทพฯ ผ่านเส้นทางพระราม 2 มากถึงวันละ 2.7 แสนคัน
ขณะที่ นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 19 ก.ค.62 ระบุว่า การออกแบบกำหนดให้ผิวถนนมีความหนา 13 ซม.จริง เพราะในขั้นตอนการออกแบบ คาดการณ์ว่าจะมีทางยกระดับเกิดขึ้นด้วย ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาปริมาณรถ ทั้งรถยนต์ส่วนตัวและรถบรรทุกที่วิ่งบนถนนด้านล่าง จึงมีการออกแบบผิวทางให้หนาเท่านั้น แต่เนื่องจากการก่อสร้างทางยกระดับมีความล่าช้า จึงต้องมีการปรับแก้ไขแบบ แต่ยืนยันว่าต่อให้เป็นแบบเดิมที่กำหนดมาก็สามารถรองรับการจราจรช่วงดังกล่าวได้
มีรายงานว่า กระบวนการปรับแก้ไขแบบถนนเริ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี 2561 ส่งผลให้ผู้รับเหมา เบิกงบประมาณเพื่อเดินหน้าโครงการไม่ได้ โดยเฉพาะการปูผิวถนนที่ติดเงื่อนไขของแบบการก่อสร้างที่มีปัญหา จึงทำให้โครงการก่อสร้างล่าช้า และคืนผิวจราจรทางคู่ขนานช้าตามไปด้วย
นอกจากนี้ตามขั้นตอนปกติของกรมทางหลวง แม้กรมทางหลวงจะเป็นผู้ว่าจ้างให้เอกชนเป็นผู้ออกแบบโครงการ แต่ในขั้นตอนการตรวจรับงาน ก็จะมีคณะกรรมการในการตรวจรับงานของกรมฯ เช่นกัน โดยเฉพาะสำนักสำรวจและออกแบบที่จะเป็นผู้รับชิดชอบโดยตรง แต่กรณีดังกล่าวกลับผ่านขั้นตอนการตรวจรับแบบ และเซ็นสัญญาเริ่มโครงการกับผู้รับเหมาในเดือน ก.พ. ปี 2561