ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิเคราะห์ : สหรัฐฯ ประลองกำลังจีน บนเวทีอาเซียน

ต่างประเทศ
2 ส.ค. 62
11:59
812
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ : สหรัฐฯ ประลองกำลังจีน บนเวทีอาเซียน
ประเด็นที่ได้รับความสนใจในการประชุมอาเซียนครั้งนี้ คือ ความพยายามของสหรัฐฯ ในการผลักดันยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เพื่อต่อกรกับการขยายอิทธิพลของจีนผ่านโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ BRI

วันนี้ (1 ส.ค.2562) ในการประชุมอาเซียนที่จัดขึ้นจีนมีความพยายามรุกยุทธศาสตร์แนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเงินลงทุน การประชาสัมพันธ์และการมอบทุนการศึกษา ทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ต้องเร่งเครื่องเดินหน้าผลักดันยุทธศาสตร์ของตัวเองอย่างเต็มที่ในการประชุมครั้งนี้

เมื่อพูดถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อต้านทานการขยายอิทธิพลของจีนในเวลานี้ คงไม่พูดถึงอินโด-แปซิฟิกไม่ได้ เพราะยุทธศาสตร์นี้ครอบคลุมพื้นที่กว้างกว่าเอเชีย-แปซิฟิก ที่เรารู้จักกัน

อินโด-แปซิฟิก เป็นศัพท์ที่สหรัฐฯ ใช้อธิบายลักษณะในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ครอบคลุมตั้งแต่เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ไปจนถึงเกาะเล็กเกาะน้อย ในมหาสมุทรแปซิฟิก ความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นได้จากความพยายามของไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ ที่เดินหน้าผลักดันยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและเวทีคู่ขนานในสัปดาห์นี้

 

คู่แข่งของอินโด-แปซิฟิก คือ แนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road(BRI) ของจีนที่ขยายอิทธิพลเข้าไปเกือบครึ่งค่อนโลก ผ่านการเชื่อมต่อทั้งทางบกและทางทะเล BRI เป็นการขยายอิทธิพลผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยง 3 ทวีปคือ เอเชีย ยุโรปและแอฟริกา รวมทั้งสร้างความร่วมมือความมั่นคงและสิ่งแวดล้อม

ส่วนอินโด-แปซิฟิก เป็นความมุ่งหมายของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ในการปิดล้อม ถ่วงดุลและแข่งขันในเชิงยุทธศาสตร์กับจีน แต่เนื่องจากสหรัฐฯ เพิ่งเริ่มผลักดันอินโด-แปซิฟิก เมื่อช่วงปลายปี 2560 ทำให้ยุทธศาสตร์นี้ยังไม่มีความชัดเจนเมื่อปรียบเทียบกับ BRI ที่จีนดำเนินการอย่างเป็นระบบมากกว่า

ย้อนกลับมามองการตั้งรับชาติมหาอำนาจของอาเซียนสมาชิกอาเซียน10 ชาติ ออกแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับแนวคิดของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เอกสารนี้สะท้อนให้เห็นลีลาการทูตของอาเซียนในการถ่วงดุลชาติมหาอำนาจและหลีกเลี่ยงการเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยตรงเริ่มตั้งแต่การเน้นย้ำว่าอาเซียนเป็นศูนย์กลาง

สาระสำคัญ คือ การสร้างความร่วมมือทางทะเลเพื่อถ่วงดุลการขยายอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ส่วนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานแสดงให้เห็นว่าอาเซียนยังเปิดรับ BRI

นอกจากนี้ยังยินดีสร้างความร่วมมือในด้านโครงสร้างพื้นฐานกับสหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ไปพร้อมๆ กัน ทำให้อาเซียนไม่จำเป็นต้องเลือกข้างสหรัฐฯ

พงศธัช สุขพงษ์ : ไทยพีบีเอส

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง