ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หอการค้าไทยห่วงภัยแล้งยืดเยื้อฉุดจีดีพี 62 โต 2.9 %

เศรษฐกิจ
2 ส.ค. 62
12:27
139
Logo Thai PBS
หอการค้าไทยห่วงภัยแล้งยืดเยื้อฉุดจีดีพี 62 โต 2.9 %
หอการค้าไทย ประเมิน หากสถานการณ์ภัยแล้งยืดเยื้อถึง 2 เดือน สร้างความเสียหายกว่า 37,000 ล้านบาท กระทบจีดีพีปีนี้โตเพียงร้อยละ 2.9 แนะรัฐบาลอัดฉีดมาประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

วันนี้ (2 ส.ค.62) รศ.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ผลสำรวจสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2562 แม้ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งรวม 13 จังหวัด 43 อำเภอซึ่งประกาศยุติสถานการณ์แล้ว 12 จังหวัด ได้แก่ จ.พิษณุโลก จ.อุตรดิตถ์ จ.พิจิตร จ.เชียงราย จ.สุโขทัย เป็นต้น มีพื้นที่การเกษตรเสียหายรวม 838,981 ไร่ โดยเป็นพื้นที่นาข้าวเสียหาย 411,549 ไร่มากที่สุด รองลงมา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 157,943 ไร่ ปัจจุบันประเมินมูลค่าความเสียหายโดยรวม 9,807 ล้านบาท แต่หากสถานการณ์ภัยแล้งยืดเยื้อ 1 เดือน คาดว่ามูลค่าความเสียหายจะเพิ่มขึ้นเป็น 18,871 ล้านบาท และหากยืดเยื้อต่อเนื่อง 2 เดือน ความเสียหายจะสูงถึง 37,378 ล้านบาท

ขณะที่ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย พบว่า ดัชนีปรับลดลงทุกรายการเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 4.1 ลดลงจากเดือนก่อนที่ 47.4 ขณะที่ความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ร้อยละ 48.7 จากเดือนก่อนที่ ร้อนละ 49.1 เนื่องจากในช่วงที่ทำการสำรวจจะอยู่ในช่วงที่ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาล และความไม่แน่นอนในสถานการณ์ทางการเมืองทำให้ขาดความเชื่อมั่นต่อภาพลักษณ์ของประเทศ การส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคมปรับลดลงร้อยละ 5.79 และราคาพืชผลทางการเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ ส่งผลทำให้กำลังซื้อของประชาชนไม่สูงมากและยังมีปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนประชาชนยังต้องเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้ารวมถึงมีปัญหาภัยแล้ง

ช่วงเวลานี้นโยบายการเงินต้องประคับประคองเศรษฐกิจในภาวะที่มีปัญหารุมเร้า และจะช่วยแก้ปัญหานี้ครัวเรือน เรียกร้องให้แบงก์ชาติผ่อนคลายนโยบายปล่อยสินเชื่อและลดดอกเบี้ยลง เพราะไม่อย่างนั้นจะหนี้ครัวเรือนจะสูง และจะบีบให้คนกลายเป็นหนี้นอกระบบแทนในระบบ ยิ่งทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา

 

ด้าน ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า หากสถานการณ์ภัยแล้ง ยืดเยื้อต่อเนื่องออกไปอีก 2 เดือน หรือไม่จบภายในเดือน ก.ย.ปีนี้ จะมีผลกระทบต่อความเสียหายโดยเฉพาะนาข้าวที่จะมีผลต่อรายได้ของเกษตรกรและจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ร้อยละ 0.2 - 0.3 ทำให้อัตราการขยายตัวของของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.9 จากที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 3.2 - 3.5

ขณะนี้ไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจเลย ผู้บริโภคและนักธุรกิจทุกภาคไม่มีความเชื่อมั่นมั่นไม่มีการใช้จ่าย ต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว อัดฉีดงบประมาณ มีวงเงินประมาณแสนล้านและแบงค์ชาติต้องลดดอกเบี้ยลง 0.50 % เพื่อกระตุกให้เศรษฐกิจฟื้นตัวก่อนส่งออก 2 - 3 %

ดังนั้น ยังมีความจำเป็นในการใช้นโยบายการคลังเพื่อขาดดุลงบประมาณเพื่ออัดฉีดงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการเกษตรและสังคมรวมถึงการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อดูแลธุรกิจโดยรวมและฟื้นความเชื่อมั่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง