ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เริ่มแล้วประชุมอาร์เซ็ป คาดจะเป็นกลุ่มการค้าใหญ่ระดับโลก

เศรษฐกิจ
3 ส.ค. 62
11:44
524
Logo Thai PBS
เริ่มแล้วประชุมอาร์เซ็ป คาดจะเป็นกลุ่มการค้าใหญ่ระดับโลก
"จุรินทร์" เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีการค้าอาเซียนบวกกับอีก 6 ประเทศ ตั้งเป้าอาร์เซ็ปเป็นเขตการค้าที่สามารถสร้างห่วงโซ่การผลิตให้กับโลก

วันนี้ (3 ส.ค.2562) นายหู ชุนหวา รองนายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือ อาร์เซ็ป ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุม

 

 

นายจุรินทร์กล่าวว่า การประชุมอาร์เซ็ปสมัยพิเศษ ครั้งที่ 8 เป็นการประชุมระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศและประเทศสมาชิกอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ในปีนี้ไทยในฐานะประธานอาเซียน เป็นเจ้าภาพในการประชุมอาร์เซ็ป เพื่อแสวงหาความร่วมมือขยายการค้าระหว่างกัน หลังเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและปัญหาสงครามทางการค้าที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ

 

 

โดยที่ประชุมจะร่วมกันหาทางออกในประเด็นที่ยังค้างอยู่บนโต๊ะเจรจา ประเด็นที่ยังเป็นอุปสรรคซึ่งบางประเทศยังไม่มีความพร้อมที่จะเปิดตลาดการค้าและบริการ หากเจรจาสำเร็จจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างประเทศได้มากขึ้น

ทั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนทั้ง 10 ประเทศได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการเจรจาอาร์เซ็ป เพื่อที่จะให้สรุปผลเรื่องการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน ภายในปีนี้ตามที่ตั้งเป้าไว้โดยหวังว่าเป็นเขตการค้าที่สามารถสร้างห่วงโซ่การผลิตให้กับโลก

 

หากอาร์เซ็ปรวมตัวกันได้สำเร็จก็จะมีประชากรรวมกัน 3,500 ล้านคน หรือเกือบร้อยละ 50 ของประชากรทั้งโลก ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีขนาดทางการค้าใหญ่ลำดับต้นๆ ของโลก ก็จะเป็นประโยชน์กับไทยและสมาชิก ต้องพยายามร่วมมือกันเร่งให้การเจรจาเสร็จสิ้น

ข้อมูลปี 2561 ระบุว่าประเทศอาเซ็ป 16 ประเทศมีมูลค่าจีดีพีกว่า 27.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 32.3 ของจีดีพีโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 30.9 ของมูลค่าการค้าโลก

 

 

สำหรับประเทศไทยให้ความสำคัญกับข้อตกลงอาร์เซ็ป เป็นเครื่องมือการขยายการค้าและการลงทุนในภูมิภาคซึ่งจะช่วยให้ไทยเป็นฐานการผลิตและมีการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติและเกิดการขยายเครือข่ายภาคการผลิตและการกระจายสินค้าของไทย

ผู้ประกอบการไทยจะสามารถสรรหาแหล่งวัตถุดิบที่มีความหลากหลายทั้งเชิงคุณภาพและราคามากขึ้น จากเดิมที่สรรหาวัตถุดิบเพียง 10 ประเทศในอาเซียนก็จะขยายเป็น 16 ประเทศ รวมทั้งจะเป็นการเพิ่มช่องทางให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น

นอกจากนี้ยังจะช่วยลดความซ้ำซ้อนเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ประสานกฎระเบียบและมาตรการทางการค้า ส่งผลให้มีการยอมรับกฎเกณฑ์ด้านมาตรฐานต่างๆ ระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวทางการค้าและการลงทุนของไทยตลอดจนภูมิภาคด้วย และสินค้าที่ไทยคาดว่าจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมเมื่อเปรียบเทียบกับเอฟทีเอไทยที่มีอยู่ เช่นเครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วนยางล้อ เส้นใย สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และกระดาษ เป็นต้น

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง