วันนี้ (4 ส.ค.2562) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากข้อมูลการเข้ารับบริการในระบบ “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “กองทุนบัตรทอง” ในช่วง 10 เดือนของปี 2562 (ข้อมูล 1 ต.ค. 61 - 17 ก.ค. 62) ได้รายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จำนวน 3,067 คน เสียชีวิต 407 คน เบิกจ่ายค่ารักษากว่า 14.64 ล้านบาท จากข้อมูลนี้แยกผู้ป่วยตามประเภทของสารเคมีที่ได้รับ ดังนี้
- ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต จำนวน 705 คน เสียชีวิต 58 คน เบิกจ่ายค่ารักษา 4.27 ล้านบาท
- ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าเชื้อรา จำนวน 1,337 คน เสียชีวิต 336 คน เบิกจ่ายค่ารักษา 6.79 ล้านบาท
- สารเคมีทางการเกษตรประเภทอื่นๆ จำนวน 1,025 คน เสียชีวิต 13 คน เบิกจ่ายค่ารักษา 3.57 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อดูข้อมูลโดยแยกรายเขตบริการ 13 เขต พบว่าเขตเชียงใหม่มีผู้ป่วยเข้ารับบริการมากที่สุด จำนวน 506 คน รองลงมาเขตราชบุรี จำนวน 390 คน เขตนครสวรรค์ จำนวน 340 คน และนครราชสีมา จำนวน 338 คน
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ข้อมูลผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในแต่ละปีจะเห็นได้ว่ามีประชาชนจำนวนมากที่เข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ดังนี้
ปี 2559 มีผู้ป่วยจำนวน 4,876 คน เสียชีวิต 606 คน เบิกจ่ายค่ารักษา 22.19 ล้านบาท
ปี 2560 มีผู้ป่วย 4,916 คน เสียชีวิต 579 คน เบิกจ่ายค่ารักษา 21.85 ล้านบาท
ปี 2561 มีผู้ป่วย 4,736 คน เสียชีวิต 601 คน เบิกจ่ายค่ารักษา 21.78 ล้านบาท
ดังนั้น หากรวมผู้เสียชีวิตจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในช่วง 4 ปี มีจำนวน 2,193 คน และใช้งบประมาณค่ารักษาพยาบาลกว่า 20 ล้านบาทต่อปี ไม่รวมผู้ป่วยในสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆ สะท้อนให้เห็นผลกระทบของการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชที่เกิดขึ้น