เพิ่งรู้ว่าอัยการไม่สั่งฟ้อง 88 การ์มองเต้ รีสอร์ต
หลังปรากฏภาพข่าว งานสัมมนา ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 21-22 กรกฎาคม 2562 จัดขึ้นที่ 88 การ์มองเต้ รีสอร์ต ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการตรวจสอบรีสอร์ตแห่งนี้ ซึ่งก่อสร้างบุกรุกพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทับลาน
ทันทีที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตรวจสอบ ก่อนจะชี้แจงว่า 88 การ์มองเต้ รีสอร์ต ถูกดำเนินคดีฐานบุกรุกป่า ตั้งแต่ปี 2555 แต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง
นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยว่า คดีนี้ในชั้นอัยการมีการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม ก่อนที่จะสั่งไม่ฟ้องคดี แต่คำสั่งไม่ฟ้องคดีไม่ได้ถูกส่งมายังอุทยานแห่งชาติทับลาน ทางอุทยานฯ จึงเพิ่งทราบ หลังจากที่รีสอร์ตแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานสัมมนาของพรรคการเมือง และทางกรมอุทยานฯ สั่งให้ตรวจสอบ
แต่รีสอร์ตแห่งนี้ ถูกกำหนดไว้เป็น 1 ในกลุ่มรีสอร์ตเป้าหมายที่เข้าปิดประกาศรื้อถอนตามมาตรา 22 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 อยู่แล้ว แต่มาเป็นข่าวก่อน
ตรวจสอบขบวนการวิ่งเต้นให้หลุดคดี
เช้าวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เข้าปิดประกาศรื้อถอน 88 การ์มองเต้ รีสอร์ต รวมทั้งรีสอร์ตและบ้านพักบริเวณใกล้เคียงรวม 11 แห่ง
แต่นี้ไม่ได้มีผลต่อคดี เพราะสิ่งที่ทางกรมอุทยานฯ ต้องตรวจสอบต่อ คือกรณีที่มีนิติกร ของ ส.ป.ก.คนหนึ่งเข้าให้การว่า แปลงที่ดินของรีสอร์ตแห่งนี้อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. อาจทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง หากเป็นการให้การเท็จ นิติกรต้องถูกดำเนินคดี จากนั้นทางกรมอุทยานจะยื่นหลักฐานใหม่เพื่อขอให้มีการพิจารณคดีอีกครั้ง
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ที่ปรึกษาหน่วยพญาเสือ กล่าวว่า การต่อสู้คดีบุกรุกป่าหลายคดี ผู้ครอบครองที่ดินจะอ้างว่าอยู่ในเขต ส.ป.ก. แม้จะมีปัญหาว่า ส.ป.ก.ถือแผนที่คนละฉบับกับกรมอุทยาน ฯ แต่ในชั้นศาล ทั้ง 2 หน่วยงานต้องมีการพิสูจน์ให้แน่ชัด
ด้าน พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศูนย์ปฏิบัติการที่ 4 กอ.รมน.กล่าวว่า กรณี 88 การ์มองเต้ รีสอร์ต ที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่จะนำไปสู่การตรวจสอบกระบวนการยุติธรรม โดยทาง กอ.รมน. จะเป็นหน่วยงานกลางที่รวบรวมคดีทุกคดีเกี่ยวกับการบุกรุกป่า ที่ไม่ถูกสั่งฟ้องทั้งในชั้นพนักงานสอบสวน และชั้นอัยการ ส่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบ
เราต้องแก้ไขปัญหาขบวนการวิ่งเต้นให้หลุดคดี เพราะมันมีการช่วยกันอยู่ ผู้ครอบครองที่ดินทั้งในอำเภอวังน้ำเขียว และอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ก็เป็นกลุ่มนายทุน ข้าราชการ และนักการเมืองที่มีอิทธิพลทั้งนั้น
คำสั่งเด้งเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.โคราช เอี่ยวรีสอร์ตรุกป่า
31 กรกฏาคม 2562 มีรายงานข่าวว่า เลขาธิการสำนักการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ออกหนังสือคำสั่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่ 821/2562 มอบหมายให้ข้าราชการสังกัด ส.ป.ก.จังหวัดนครราชสีมา ไปช่วยปฏิบัติราชการจำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายนิสิทธิ์ จันทโชติ นิติกรชำนาญการพิเศษ และนายฉัตรชัย จันทร์เต็มดวง นิติกรชำนาญการ ช่วยปฏิบัติราชการสำนักงานกฎหมาย
นายปรีชา ประภานุกูล นายช่างสำรวจอาวุโส และนายประจวบ ร่มสุข นายช่างสำรวจชำนาญงาน ช่วยปฏิบัติราชการสำนักจัดการแผนที่และสารบบที่ดิน
1 สิงหาคม 2562 นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กล่าวว่า การสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ 4 คนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคดีบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ของ 88 การ์มองเต้ รีสอร์ต โดยตรง
ซึ่งจากข้อมูลพบว่า เจ้าหน้าที่ 1 คน ได้ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องกับพนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมา อีกคนเป็นคนลงนามใบรับรองว่า 88 การ์มองเต้ รีสอร์ต อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. ส่วนเจ้าหน้าที่อีก 2 คนเป็นคนลงนามรับรองใบ ส.ป.ก.สร. 5 ก. ซึ่งเป็นแผนที่แปลงที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแสดงจากผลการสำรวจรังวัดแปลงที่ดิน จากการนำชี้ของเกษตรกรผู้ถือครอง แต่ยังไม่ใช่เอกสารจะแสดงสิทธิในที่ดิน
ดังนั้น กรมอุทยานฯ กำลังจะหารือเพื่อที่จะดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ทั้ง 4 คน เพราะทำให้ราชการเสียประโยชน์เกิดความเสียหายต่อที่ดินของรัฐ และมีความผิดตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย
ขณะที่ พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศูนย์การประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการความมั่นคงภายใน ระบุว่า 88 การ์มองเต้ รีสอร์ต จะครบกำหนดรื้อถอนในวันที่ 23 ตุลาคม ถ้าครบกำหนดแล้ว ผู้ถือครองที่ดินยังไม่ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออก ทาง กอ.รมน.จะร่วมกับอุทยานแห่งชาติทับลาน เข้ารื้อถอน หลังจากนั้นจะฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหาย
รื้อไม่รื้อรีสอร์ตบทพิสูจน์ความจริงจังแก้ปัญหา
อุทยานแห่งชาติทับลาน มีพื้นที่กว่า 1.4 ล้านไร่ มีพื้นที่ที่ประชาชนเข้าไปอยู่อาศัย กว่า 2 แสนไร่ ที่ผ่านมา พบปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับ ส.ป.ก. หรือ ส.ป.ก.บวม
มีปัญหาบุกรุกก่อสร้างบ้านพัก และรีสอร์ตรุกป่าทับลานยืดเยื้อมานานกว่า 20 ปี มีคดีความเกือบ 500 คดี มีเพียงประมาณ 100 คดี ที่คดีสิ้นสุด และสามารถรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างได้ ซึ่งยังไม่นับรวมคดีในพื้นที่ป่า และอุทยานแห่งอื่นๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับโจทย์แก้ปัญหารุกป่าของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ทีมข่าวไทยพีบีเอสลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหารีสอร์ตสร้างรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน พบว่าอิมภูฮิลล์ รีสอร์ต ซึ่งถูกดำเนินคดีฐานบุกรุกอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่แม้คดีสิ้นสุด และศาลสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างแล้ว ตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น วังน้ำเขียว โฮเทล และเปิดให้บริการตามปกติ รวมทั้งถูกใช้เป็นที่พักของคณะผู้ที่เดินทางมาสัมมนา พรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 21-22 ก.ค.ที่ผ่านมา
นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กล่าวว่า สาเหตุที่รีสอร์ตบางแห่งยังไม่ถูกรื้อถอน แบ่งเป็น 2 กรณี กรณีที่ 1 คดีที่ยังไม่สิ้นสุด ผู้ประกอบการได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกว่า 73 คดี และกรณีที่ 2 คดีสิ้นสุด แต่ต้องใช้งบประมาณรื้อถอนจำนวนมาก เช่น อิมภูฮิลล์ รีสอร์ต ใช้งบประมาณรื้อถอนกว่า 2 ล้านบาท ต้องรอการจัดสรรงบประมาณ จึงยังไม่สามารถเข้ารื้อถอนได้
เรียกร้องสิทธิ์ครอบครองที่ดินอย่างต่อเนื่อง
ปัญหาบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน อาจไม่สามารถแก้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ และรวดเร็ว เมื่อชาวบ้าน และเจ้าของรีสอร์ต ใน อ.วังน้ำเขียว ก็พยายามเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เพราะพวกเขาเชื่อว่าเข้ามาครอบครองที่ดินอย่างถูกต้อง และยังอ้างว่าการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน มีความผิดพลาด
ย้อนไปเมื่อเดือนเมษายน 2560 ตัวแทนชาวบ้านในอำเภอวังน้ำเขียวกว่า 300 คน นำโดย นายสมบูรณ์ สิงกิ่ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไทยสามัคคี เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ท.วิชัย แชจอหอ แม่ทัพภาคที่ 2 เพื่อให้ดำเนินการแก้ปัญหากรณีที่ดินที่ชาวบ้านอ้างสิทธิ์ครอบครอง ทับซ้อนที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. และเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน
พล.ท.วิชัย กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อน ซึ่งที่ผ่านมา ทาง ส.ป.ก.ได้ออกเอกสาร ส.ป.ก.4-01 ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ไปแล้วกว่า 1,600 คน
ล่าสุด กลุ่มชาวบ้านยังอ้างถึงผลกระทบจากการดำเนินคดีรีสอร์ตที่บุกรุกป่าว่าทำให้การท่องเที่ยวซบเซา ส่งผลให้ชาวบ้านขาดรายได้ทั้งจากการขายสินค้าและอาหาร รวมทั้งขาดรายได้จากการทำงานรับจ้างในรีสอร์ต ซึ่งไม่มีคนเข้าพัก
ขณะที่ทางกรมอุทยานฯ ยืนยันว่าได้วางแนวทางแก้ไขเพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชนที่อาศัยมาก่อนที่จะประกาศเขตพื้นที่อุทยาน ส่วนการดำเนินคดีรีสอร์ตที่รุกเขตอุทยาน จะเริ่มจากรีสอร์ตที่สร้างในเขตพื้นที่ป่าชั้นใน และเป็นของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ก่อน