ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เจษฏ์" แนะขอพระราชทานอภัยโทษ กรณีกล่าวคำถวายสัตย์ฯ

การเมือง
8 ส.ค. 62
17:00
5,146
Logo Thai PBS
"เจษฏ์" แนะขอพระราชทานอภัยโทษ กรณีกล่าวคำถวายสัตย์ฯ
อดีตที่ปรึกษา กรธ.แนะทางออกปัญหาการถวายสัตย์ปฏิญาณตน ว่าให้ย้อนกลับไปดูประเพณีการปฎิบัติว่าเคยเกิดหรือไม่และแก้ไขอย่างไร หรือรัฐบาลจะทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ

วันนี้ (8 ส.ค.2562) นายเจษฎ์ โทณะวนิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงแนวทางออกของปัญหากรณีการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า ตอนนี้นายกรัฐมนตรีได้ปูทางนำไปสู่ทางออกของปัญหาแล้ว หลังจากที่นายกฯได้กล่าวเรื่องการรับผิดชอบ ทางออกของรัฐบาลที่จะแก้ไข อาจด้วยการทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ

จากนั้นดำเนินการทำหนังสือ เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการเข้าถวายสัตย์กล่าวคำปฏิญาณตนใหม่ หรือทำหนังสือขอพระบรมราชานุญาต เพื่อมีพระราชวินิจฉัยต่อกรณีที่เกิดขึ้นนี้ หรืออีกทางออกคือ การรอผลการวินิจฉัยให้เป็นที่สิ้นสุดในกระบวนการที่มีผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และการยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นายกฯ ไม่ต้องลาออกแต่ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัย

นายเจษฎ์กล่าวว่า แม้จะมองว่าการลาออกของนายกรัฐมนตรีต่อปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เป็นการแสดงความรับผิดชอบอย่างหนึ่ง

นายกรัฐมนตรีอาจไม่ต้องลาออก แต่ให้ไปย้อนดูประเพณีปฏิบัติที่เคยเกิดขึ้นในอดีต หรือไม่ก็ไปพิจารณาการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนของประเทศอื่น ที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกับของไทย ว่ามีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร

นายเจษฎ์กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องลาออก แต่ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจในการวินิจฉัย หรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี แต่เชื่อว่าปัญหานี้ทางออกจะไม่ใช่ที่การลาออกของนายกรัฐมนตรีหรือการประกาศยุบสภา

นอกจากนี้นายเจษฎ์ยังระบุด้วยว่า ตามตัวอักษรถ้อยคำในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ในการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตน จะต้องกล่าวให้ครบตามที่กำหนดไว้

ส่วนกรณีที่ไม่ได้กล่าวครบถ้วนสมบูรณ์นั้น ในกฎหมายไม่มีบทบัญญัติโทษกำหนดไว้  จึงต้องย้อนกลับไปพิจารณาตามมาตรา 5 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับใช้แก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนไม่ได้เป็นโมฆะ

และด้วยสืบเนื่องจากกรณีปัญหานี้ ที่อาจจะส่งผลต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล หลังจากที่มีการถวายสัตย์ปฏิญาณตนเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น อดีตที่ปรึกษา กรธ.ระบุว่า อาจแยกเป็น 2 ส่วน คือ หากมองว่าการกล่าวถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ได้ทำให้การดำเนินการกล่าวคำถวายสัตย์เป็นการโมฆะ นั่นหมายถึงการมองว่าการกล่าวคำถวายสัตย์ไม่ได้สูญเปล่าไป แต่สามารถทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์ได้ ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้การกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ใช่ไม่มีการกล่าวคำถวายสัตย์เลย

แต่หากมองว่า การกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เป็นการสูญเปล่าตั้งแต่แรกเริ่มของการบริหารราชการแผ่นดิน นั่นอาจจะหมายถึงการยังไม่ได้กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อปฏิบัติหน้าที่ และอาจจะตีความหมายได้ว่า ขณะนี้ยังคงอยู่ในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล คสช. โดยอาจจะกลับไปเริ่มต้นดำเนินการทุกอย่างใหม่ตั้งแต่การเริ่มถวายสัตย์ปฏิญาณตน การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ส่วนการตั้งข้อสังเกตเรื่องการใช้มาตรา 44 หากย้อนไปสู่รัฐบาล คสช.นั้น อาจจะถูกครหาเรื่องความเหมาะสม หรือถูกตีนัยยะว่ารัฐบาลวางแผนไว้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง