ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดปม : เขื่อนป่วนโขง

สังคม
13 ส.ค. 62
16:03
538
Logo Thai PBS
เปิดปม : เขื่อนป่วนโขง
"ท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน" สัญญาณเตือนจากแม่น้ำโขง เตรียมรับมือผลกระทบจากเขื่อน 23 แห่ง

กลางเดือน ก.ค. 2562 ความแห้งแล้งเกิดขึ้นตลอดทั้งสายแม่น้ำโขง โดยเห็นได้ชัดเจนที่ อ.เชียงคาน จ.เลย

แก่งคุดคู้ที่ปกติจะปรากฏให้เห็นเฉพาะในช่วงหน้าแล้งเท่านั้น แต่ในเดือน ก.ค. ที่เป็นช่วงฤดูฝนกลับสามารถมองเห็นแก่งคุดคู้ได้ชัดเจน

 

ข้อมูลจากส่วนอุทกวิทยาที่ 3 เชียงคานระบุว่าในวันที่ 17ก.ค.2562 แม่น้ำโขงบริเวณ อ.เชียงคานมีระดับน้ำลดต่ำลงเหลือเพียง 3 เมตร 68 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2547 หรือต่ำที่สุดในรอบ 15 ปี แต่หากเทียบกับระดับน้ำของปีอื่นๆ ในช่วงเดือน ก.ค.ซึ่งตามปกติระดับน้ำจะสูงจนเกือบถึงริมตลิ่ง ในปีนี้ถือว่าระดับน้ำลดลงต่ำที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลเป็นต้นมา



นางจันทนา เลขาะวัฒนะ หัวหน้าส่วนอุทกวิทยาที่ 3 เชียงคาน ยังให้ข้อมูลถึงสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์แม่น้ำโขงแล้งครั้งประวัติศาสตร์นี้ว่า เกิดจาก “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” ที่ทำให้ฝนแล้งทั่วทั้งภาคอีสานของประเทศไทยและภูมิภาคใกล้เคียง ประกอบกับเขื่อนในแม่น้ำโขงสองแห่งได้แก่ เขื่อนจิงหงและเขื่อนไซยะบุรีลดการระบายน้ำในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน



เขื่อนจิงหงลดการระบายน้ำในวันที่ 5-16 ก.ค. 2562 เพื่อบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้า ส่วนเขื่อนไซยะบุรี เริ่มลดการระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. 2562 เพื่อทดสอบผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงวันที่ 15-29 ก.ค. 2562



เมื่อน้ำลดลง ชาวบ้านริมแม่น้ำโขงสามารถลงไปหาทรัพยากรจากแม่น้ำโขงได้ง่ายขึ้น เช่น ที่ ต.บุฮม  อ.เชียงคาน จ.เลย ชาวบ้านหลายคนลงไปเก็บหินในแม่น้ำโขงมาขาย

 

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าช่วงเวลาที่น้ำลด ชาวประมงสามารถจับปลาแม่น้ำโขงได้จำนวนมาก จนราคาปลาในตลาดหลายแห่งลดลงกว่าครึ่ง สิ่งเหล่านี้ กำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่า เป็นข้อดีหรือข้อเสีย ที่ชาวบ้านสามารถจับปลาได้มากขึ้นในช่วงฤดูวางไข่เช่นนี้ เพราะชาวบ้านจำนวนไม่น้อยต่างกังวลว่า ในปีต่อๆไปอาจไม่มีปลาเหลือให้จับ เพราะในปีนี้พวกมันไม่มีโอกาสได้วางไข่ขยายพันธุ์

 

นายประยูร แสนแอ ชาวประมง อ.เชียงคาน จ.เลย จับปลาในแม่น้ำโขงมานานกว่า 50 ปี เล่าว่า แต่เดิม ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะขึ้นลงเป็นฤดูกาล โดยจะขึ้นสูงในช่วงเดือน พ.ค.ถึง ต.ค. และเริ่มลดต่ำลงในช่วงเดือน พ.ย.ไปจนถึงเดือน เม.ย. แต่หลังจากเริ่มมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนบริเวณอาณาเขตประเทศจีน การขึ้นลงของแม่น้ำโขงก็ไม่เป็นธรรมชาติอีกต่อไป จนเป็นที่มาของวลีที่ว่า “น้ำท่วมหน้าแล้ง น้ำแห้งหน้าฝน”

ตอนแรกก็ปรับตัวไม่ทัน ไม่รู้จะทำตัวยังไง แต่ช่วงนี้ก็ชินแล้ว ก็ปรับตัวตามน้ำไป ถ้าน้ำมาแบบไหน เราก็เปลี่ยนอุปกรณ์หาปลาให้เหมาะกับระดับน้ำ เราจะต่อต้านยังไงก็ไม่ได้แล้ว เพราะเขาทำอยู่ประเทศเขา ผลกระทบของเราก็ต้องทำใจ เพราะทำยังไงก็หยุดเขาไม่ได้ เราก็ต้องปรับตัวของเราเอง

นายอานุภาพ วงศ์ละคร รองกรรมการผู้จัดการ บ.ซีเคพาวเวอร์ ซึ่งบริหารจัดการเขื่อนไซยะบุรี ให้ข้อมูลว่า เขื่อนไม่ใช่ผู้ร้ายของปรากฎการณ์น้ำแล้งครั้งนี้อย่างที่ทุกคนกล่าวหา

ความจริงเราเริ่มยกระดับน้ำตั้งแต่ช่วงฤดูฝนซึ่งมีน้ำมาก ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อท้ายน้ำ พอเรายกระดับน้ำมาถึงระดับปกติแล้ว ต่อไปนี้จะบริหารโดยน้ำผ่านมาเท่าไหร่ ก็ให้ไหลออกไปเท่านั้น เรื่องผลกระทบไม่มีแน่นอน ระดับน้ำจะคงที่อยู่อย่างนี้ตลอดไปไม่ว่าเดือนไหน ทางท้ายน้ำจะเหมือนธรรมชาติทุกอย่าง

ปัจจุบันในแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำล้านช้างมีเขื่อนที่เปิดใช้งานแล้วทั้งหมด 10 แห่ง ทั้งหมดอยู่ในเขตประเทศจีน ส่วนเขื่อนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างมีทั้งหมด 3 แห่ง คือเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮงและเขื่อนเซซานตอนล่าง

นอกจากนี้ยังมีเขื่อนที่อยู่ในแผนการก่อสร้างอีกทั้งหมด 10 แห่ง เท่ากับว่าหากสร้างเขื่อนได้ตามแผน แม่น้ำโขงจะมีเขื่อนทั้งหมด 23 แห่งตั้งแต่ต้นน้ำประเทศจีนไปจนถึงปลายน้ำประเทศเวียดนาม



เขื่อนที่กำลังจะเปิดใช้และอยู่ใกล้ประเทศไทยที่สุดคือเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 1,285 เมกะวัตต์ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของประเทศไทยทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเขื่อนไว้แล้วเป็นระยะเวลา 29 ปี และจะเริ่มรับไฟฟ้าในเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้

หลายฝ่ายมองว่าสถานการณ์น้ำแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาเป็นเพียงสัญญาณเตือนเพื่อรอรับผลกระทบครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นหลังเขื่อนไซยะบุรีเปิดใช้งานจริงในเดือนต.ค.ที่จะถึงนี้

 

ขณะนี้ ตัวแทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ได้ออกมาเคลื่อนไหวด้วยการยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้ศาลปกครองมีคำสั่งระงับการรับซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจากเขื่อนไซยะบุรี โดยศาลปกครองได้รับคำร้องไว้พิจารณา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง