พี่ชอบดูหนัง ไปดูหนังบ่อยมาก แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ดูหนังนักศึกษา เพราะเขามีเสียงบรรยายภาพ
คำตอบแรกของ อมีนา ทรงศิริ ผู้บกพร่องทางการมองเห็น หลังจากยิงคำถามว่าทำไมถึงตัดสินใจมากดูภาพยนตร์จบการศึกษาของนักศึกษาวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แม้อมีนาจะเป็นผู้บกพร่องทางการมองเห็น หากหนึ่งในกิจกรรมที่เธอทำเป็นประจำยามว่างเพื่อผ่อนคลายก็คือการดูหนัง ซึ่งการดูหนังของเธอนั่นก็คือ "การฟังเสียง" นั่นเอง เธอบอกว่ารูปแบบหนังที่ชอบก็คือหนังสนุกเหมือนคนทั่วไป แต่กว่าจะเข้าใจเรื่องได้ หลายครั้งต้องเข้าดูหลายรอบ อาศัยฟังเสียงบ่อยๆ เพื่อให้เข้าใจเนื้อเรื่อง หากหนังเรื่องไหนยากเกินความเข้าใจจากแค่การฟัง เธอจะใช้วิธีการถามคนใกล้ตัวหรือหาฟังรีวิวหลังจากดูเสร็จแล้ว
ผู้บกพร่องทางการมองเห็น ดูหนังยังไง?
สิ่งที่ทำให้เธอมีความสุขที่สุดก็คือการดูหนังแบบมี Audio Description (AD) หรือระบบเสียงบรรยายภาพ เพราะจะทำให้เธอจิตนาการฉากและเห็นการแสดงออกของตัวละครได้มากขึ้น ซึ่งทำให้เข้าใจเรื่องได้เป็นอย่างดี โดยปัจจุบันนี้มีหนังไทยที่ฉายในเชิงพาณิชย์เพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่มีการทำระบบเสียงบรรยายภาพ และส่วนใหญ่เป็นการจัดกิจกรรมเฉพาะกิจทั้งสิ้น
ซึ่งการดูหนังของผู้บกพร่องทางการมองเห็นต้องใช้ตัวช่วย โดยปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นพรรณนาที่เป็นตัวช่วยสำคัญ โดยหลังจากเข้าใช้แอพฯ ระบบจะทำการจับเสียงจากหนังเพื่อบรรยายฉาก หากเรื่องที่จะทำได้ผู้สร้างต้องทำระบบ AD รองรับแล้วเท่านั้น
การทำระบบเสียงบรรยายภาพ
ในการฉายหนังจบการศึกษาฯ ทีมข่าวได้คุยกับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำหน้าที่ทำเสียงบรรยายภาพ ซึ่งวิธีการทำไม่ยุ่งยากมากนัก คือนำบทภาพยนตร์ที่บรรยายถึงฉาก และการกระทำของตัวละครมาปรับให้เป็นบทบรรยาย ความยากอยู่ที่บทต้องกระชับ พอเหมาะกับช่วงเวลาในหนังที่ไม่มีเสียงพูดของตัวละคร ที่สำคัญการบรรยายต้องไม่สปอยล์เรื่อง
คนในวงการมองการทำ AD ว่ายังไง
ไพรัช คุ้มวัน ผู้กำกับภาพยนตร์จากเรื่องสยามสแควร์ มองว่าการทำเสียงบรรยายภาพตอนนี้ในไทยเริ่มมีมากขึ้น ซึ่งสำหรับค่ายหนังแล้วการสร้าง AD อาจใช้ต้นทุนเพิ่มไม่มากนัก หากนี่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้น และในทางอ้อมเองจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับผู้สร้างได้ในระดับหนึ่ง