วันนี้ (13ส.ค.62) หน่วยงานด้านการแพทย์ สาธารณสุข และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนการแก้ปัญหามลพิษจากฝุ่น PM 2.5 จากเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อนำมาเป็นบทเรียน และเตรียมการป้องกันในปีนี้
ในเวทีเสวนาได้สะท้อนปัญหาจุดวัดคุณภาพอากาศ ที่ปัจจุบันใช้ของกรมควบคุมมลพิษเป็นหลัก แต่พบว่ามีจุดวัดคุณภาพอากาศเพียง 4 จุดเท่านั้นทั้งจังหวัด ซึ่งไม่กระจายครอบคลุม และการติดตั้งเพิ่มต้องใช้งบประมาณสูงนับล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งข้อจำกัดการแจ้งเตือนประชาชน
ปีที่ผ่านมาภาควิชาการ อาจารย์คณะวิศกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดราคา 1,500 บาท เพื่อวัดคุณภาพอากาศในโรงพยาบาล 25 แห่ง ซึ่งปีนี้เตรียมขยายผลไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ในทุกตำบลของจังหวัด เพื่อให้ประชาชนได้เป็นส่วนหนึ่งเฝ้าระวัง สร้างความตระหนักในปัญหามลพิษทางอากาศ
รศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ หน่วยวิชาโรคระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากขึ้น เช่น ถุงลมโป่งพอง ปอดอักเสบติดเชื้อ โรคหัวใจวาย แต่การแจ้งเตือนประชาชน ยังไม่ใช้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกกำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ที่ 25 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร
ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ รายงานค่าระดับ PM 2.5 รายปี ประจำปี 2561 พบว่าจังหวัดเชียงใหม่มีค่าเฉลี่ยสูงเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ และข้อมูลจากสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ระบุมีผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมากกว่า 150,000 คน สำหรับการแก้ปัญหาที่ผ่านมานอกจากมาตรการบังคับใช้กฎหมายห้ามเผา การแจกหน้ากากอนามัย N95 และการประชาสัมพันธ์จากภาครัฐ ภาควิชาการนอกจากเพิ่มจุดวัดคุณภาพอากาศ ยังเตรียมร่วมมือกับหลายหน่วยงานขยายสร้างพื้นที่อากาศปลอดภัยไปยังโรงพยาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 200 แห่ง และในศูนย์การเรียนรู้นอกโรงเรียนอีก 100 แห่ง เพื่อเตรียมรับมือปัญหาฝุ่นควันในปีนี้