วันนี้ (14 ส.ค.2562) นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อประเภทลูกค้ารายใหญชั้นดี (MOR) และลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลดลงร้อยละ 0.25 จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ ร้อยละ 7.12 ต่อปี เพื่อแบ่งเบาภาระต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสนับสนุนทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นกลไกในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.2562 เป็นต้นไป
ธนาคารมีความมุ่งมั่นในการเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัว จึงพร้อมที่จะตอบสนองต่อทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ 0.25%
ขณะที่ นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำตลาดปรับอัตราดอกเบี้ยแต่ก็พิจารณาอัตราดอกเบี้ยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งต้องรอดูสถานการณ์อื่น ๆ ด้วย
ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ของรัฐและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ยังไม่ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตาม กนง.โดยนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เตรียมประชุมบอร์ดธนาคาร วันที่ 20 ส.ค.นี้เพื่อพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่พร้อมระบุว่า แม้ธนาคารมีสภาพคล่องสูงแต่ธนาคารได้ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ตามมติกนง.คราวก่อน แต่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธนาคารมีต้นทุนเงินฝากในระดับสูงที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี จึงจำเป็นต้องพิจารณาต้นทุนเงินฝากและเงินกู้ที่มีอยู่ควบคู่กับทิศทางดอกเบี้ย และคู่แข่งในตลาดด้วย
ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ขอเวลาประเมินภาพรวมตลาด และผลกระทบด้านต่าง ๆ ให้รอบคอบก่อนตัดสินใจประกาศ พร้อมระบุว่า มติ กนง.ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ธนาคารก็ไม่ได้ปรับดอกเบี้ยตาม เพราะอาจกระทบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระดับสูง