ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“อนุทิน” ย้ำชัดบัตรทองไม่มีร่วมจ่าย ไม่เพิ่มภาระให้ประชาชน

สังคม
15 ส.ค. 62
15:26
6,701
Logo Thai PBS
“อนุทิน” ย้ำชัดบัตรทองไม่มีร่วมจ่าย ไม่เพิ่มภาระให้ประชาชน
"อนุทิน" รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ยืนยันไม่ผลักภาระให้ประชาชนร่วมจ่ายบัตรทอง มีแต่จะเพิ่มสิทธิประโยชน์

วันนี้ (15 ส.ค.2562) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศปี 2562 โดยยืนยันว่า รัฐบาลจะสานต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง จึงไม่ต้องการให้ประชาชนกังวลเรื่องของการร่วมจ่าย หรือ โคเพย์เมนต์ (Co-Payment) จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มีแต่จะเพิ่มประสิทธิภาพของระบบให้ดีขึ้นไป เป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิประโยชน์ และคุณภาพบริการ 3 กองทุนให้เกิดความยั่งยืนและเท่าเทียม ซึ่งก็ยังไม่มีแนวคิดเรื่องจะควบรวมทั้ง 3 กองทุนเข้าด้วยกัน

นโยบาย คือ บริการให้ดีเยี่ยม ฝากประชาชนช่วยกันดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง อย่าป่วย อย่าคิดว่ารักษาบัตรทองไม่เสียเงิน หรือมีเงินเข้าโรงพยาบาลชั้นนำ เพราะงบบัตรทองเป็นการเหมาจ่ายรายหัว หากพร้อมใจกันป่วยหัวละหมื่นก็ไม่พอ

นายอนุทิน เชื่อว่า หากระบบสาธารณสุขดี คนไทยสุขภาพแข็งแรง ก็จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีไปด้วย และในวันที่ 16 ส.ค.นี้จะมีการประชุม ครม.เศรษฐกิจเป็นครั้งแรก จะเสนอนายกรัฐมนตรีเรื่องงบประมาณของ สปสช.ว่าเท่าไรก็ไม่พอ แต่สิ่งที่ต้องทำคือให้ สปสช.ใช้เงินอย่างคุ้มค่า เช่น ซื้อเวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ต่างๆ ต้องผลิตในประเทศไทย เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจประเทศที่ต้องซ่อมอย่างหนัก เพราะการใช้จ่ายงบประมาณสุขภาพ 2-3 แสนล้านบาท หากใช้ในประเทศก็จะหมุนเวียนได้หลายรอบ เป็นโอกาสที่ไม่ได้เสียเปล่า หากใช้ให้เป็น-จ่ายให้เป็น-รับให้เป็น ก็จะอยู่ได้

 

พร้อมยืนยันว่า ในยุคที่เป็น รมว.สาธารณสุข จะไม่มีการร่วมจ่ายแน่นอน บัตรทองยังเป็นภาระที่รัฐบาลต้องดูแล สิ่งที่ประชาชนเคยได้รับมาก็ต้องไม่เอาภาระไปเพิ่มให้ประชาชน สิ่งที่ให้ไปแล้ว หากไม่จำเป็นก็ไม่เอาคืน และต้องได้รับสิ่งที่ดีมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งการบริการ การรักษา การสร้างเสริมสุขภาพ ส่วนที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาในรัฐบาลก่อน ก็ไม่เป็นไร คงต้องหารือกับเลขาธิการ สปสช.และปลัดกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ


เมื่อถามถึงกรณีการลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน นายอนุทิน กล่าวว่า รายละเอียดเป็นเรื่องของ สปสช. ได้มอบนโยบายไปแล้วว่าต้องดูแลให้บริการอย่างดีที่สุดเท่าที่ให้ได้ อะไรที่เป็นประโยชน์ของประชาชนก็จะขับเคลื่อนอยู่แล้ว อะไรที่ทำให้แล้วไม่ได้รับความสะดวกก็จะตัดออกไป ทั้งนี้จะสิทธิประโยชน์ในกลุ่มโรคที่ยังไม่ครอบคลุม เช่น โรคหายาก โรคอุบัติใหม่ ต้องเบิกให้ได้ เพราะเป็นการเจ็บป่วยเหมือนกันและพยายามจะครอบคลุมในส่วนของแพทย์แผนไทยด้วย

ขณะที่การผลักดันยากัญชาเข้าบัตรทอง ต้องรอผลการติดตามจากผู้ป่วยที่มีการใช้ในโรงพยาบาลสังกัด สธ. 19 แห่ง หากเป็นผลดีก็จะมีการพิจารณาผลักดันเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง